แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาเช่าที่ดินมีลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติตามสัญญาว่าชั้นแรกตามสัญญาข้อ 3 จำเลยทั้งสามจะต้องจัดการให้ผู้เช่าหรือผู้อาศัยเดิมและบริวารออกไปจากที่ดินรวมทั้งรื้อถอนอาคารตึกแถวและบ้านของจำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2534 เสียก่อน หลังจากนั้นก็ส่งมอบที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์พร้อมจดทะเบียนการเช่า ส่วนโจทก์ก็ต้องชำระเงินค่าเซ้งส่วนที่เหลืออีกจำนวน 8,000,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสามในวันจดทะเบียนการเช่าการที่จำเลยยังมิได้จัดการให้ผู้เช่าหรือผู้อาศัยเดิมรวมทั้งบริวารออกจากที่ดินและยังมิได้รื้อถอนอาคารตึกแถวรวมทั้งบ้านของจำเลยทั้งสามออกจากที่ดินภายในวันที่ 31ธันวาคม 2534 แสดงว่าจำเลยยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ดินข้อ 3 ซึ่งเป็นสาระ-สำคัญของสัญญา จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่า ส่วนภายหลังจากที่จำเลยทั้งสามผิดสัญญาเช่าแล้ว แม้ต่อมาจำเลยทั้งสามจะนัดให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าในวันที่ 31 มกราคม 2535 พร้อมทั้งให้โจทก์ชำระค่าเซ้งส่วนที่เหลืออีกจำนวน8,000,000 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนการเช่าและไม่ยอมชำระเงินค่าเซ้งส่วนที่เหลือ ก็ไม่ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าเพราะจำเลยทั้งสามยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญาเช่าที่ดินข้อ 3
เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าที่ดิน และตามสัญญาเช่าที่ดินได้ระบุไว้ว่า เมื่อครบ 30 ปี ตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ายอมให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่อยู่ในที่ดินตกเป็นของผู้ให้เช่าทันทีโดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น สัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแม้จะทำสัญญาเช่าที่ดินเกินกว่า 3 ปี แต่ยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ผูกพันบังคับกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ดินได้