คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1575/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิง ป. ส. และ ก. เป็นเหตุให้ ส. และ ก. ถึงแก่ความตาย ป. ได้รับอันตรายแก่กายโดยก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างรถของ ส. ให้ไปส่งจำเลยทั้งสอง เมื่อเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 2 พูดกับจำเลยที่ 1 ว่า”ศพนี้จะเผาไหม” และร่วมกับจำเลยที่ 1 ตรวจค้นหาทรัพย์สินจากตัวผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายแล้วหลบหนีไปด้วยกัน ดังนี้แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นและอยู่ในลักษณะพร้อมที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้ตายทั้งสองและพยายามฆ่าผู้เสียหาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 288, 289
ครั้งแรกจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ต่อมาก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่ว่าจำเลยที่ 1ทำอาวุธปืนลั่นถูกผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหาย แต่จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การอีกครั้งหนึ่ง และขอให้การใหม่รับสารภาพตามฟ้องจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายวิสุทธิ์ โสวภาค และนายกลิ่นโสมทอง บิดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนายวิสุทธิ์ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 เรียกนายกลิ่นว่าโจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และ 288 ประกอบมาตรา 80 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 อันเป็นบทหนักจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมไปแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือนยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และ 288 ประกอบมาตรา 80 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 อันเป็นบทหนัก วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนของกลางยิงนายประทีป นายสิงห์ทองและนายเกษมศรีเป็นเหตุให้นายสิงห์ทองและนายเกษมศรีถึงแก่ความตาย นายประทีปผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายหรือไม่โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายประทีปผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างให้นายสิงห์ทองขับรถยนต์สามล้อสาธารณะไปส่งจำเลยทั้งสอง พยานและนายเกษมศรีนั่งรถไปเป็นเพื่อนกับนายสิงห์ทองด้วยเมื่อรถแล่นไปได้ 10 กิโลเมตรเศษ จำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนยิงพยาน 1 นัด ถูกที่ข้อมือขวา พยานตกจากรถ ได้ยินเสียงปืนดังอีก7-8 นัด รถจอดข้างทางห่างจากจุดที่พยานตกจากรถประมาณ 6-7 เมตรพยานเห็นจำเลยทั้งสองลงจากรถเดินมาหาพยาน พยานแกล้งทำเป็นตายโดยนอนอยู่นิ่ง ๆ จำเลยที่ 2 พูดว่า “ศพนี้จะเผาไหม” จำเลยที่ 1ไม่ตอบ แต่เข้ามาค้นตัวพยาน และได้ความตามบันทึกคำให้การเอกสารหมายจ.4 ซึ่งผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า หลังจากที่ถูกยิงตกจากรถแล้ว เห็นจำเลยทั้งสองลงจากรถ จำเลยที่ 1 พูดว่า”คนนี้ยังไม่ตาย” และได้ยินเสียงปืนยิงซ้ำไปที่นายเกษมศรีอีก 1 นัดจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ค้นหาทรัพย์สินจากร่างของนายสิงห์ทองและนายเกษมศรี ผู้เสียหายแกล้งทำเป็นตาย จำเลยทั้งสองเข้ามาค้นหาทรัพย์สินที่ตัวผู้เสียหายจำเลยที่ 2 พูดว่า “จะเอารถไหม” แต่ไม่ได้ยินเสียงตอบ แล้วได้ยินเสียงหนึ่งในสองคนพูดว่า “จะเผาศพไหม”เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้เข้าไปเจรจาว่าจ้างรถของนายสิงห์ทอง ผู้เสียหายมีโอกาสเห็นหน้าและได้ยินเสียงของจำเลยที่ 2 คืนเกิดเหตุเดือนหงาย จำเลยที่ 2 เข้ามาค้นหาทรัพย์สินที่ตัวผู้เสียหายจึงเชื่อได้ว่าผู้เสียหายจำจำเลยที่ 2 ได้ ทางพิจารณาปรากฏว่า ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 2 อีกทั้งปรากฏว่า ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุเพียง2 วัน ซึ่งคำให้การดังกล่าวก็สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาคำของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนัก นอกจากนี้ภาพถ่ายที่จำเลยที่ 2แสดงประกอบคำให้การตามภาพถ่ายหมาย จ.22 ก็ตรงกับคำเบิกความของผู้เสียหาย พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างรถของนายสิงห์ทอง เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 พูดกับจำเลยที่ 1 ว่า”ศพนี้จะเผาไหม” และร่วมกับจำเลยที่ 1 ตรวจค้นหาทรัพย์สินจากตัวผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายแล้วหลบหนีไปด้วยกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นและอยู่ในลักษณะพร้อมที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายทั้งสองและพยายามฆ่าผู้เสียหายดังที่โจทก์ฟ้อง พยานจำเลยที่ 2 ที่นำสืบไม่มีน้ำหนักที่จะฟังหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้…”
พิพากษายืน.

Share