คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยจดทะเบียนรับ ก. และ ด. ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยดังนั้น นอกจากผู้เยาว์ทั้งสองจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ผู้เป็นมารดาแล้ว ผู้เยาว์ทั้งสองย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยผู้เป็นบิดาเช่นเดียวกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 จำเลยจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเช่นกัน
ขณะเริ่มอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์ จำเลยยังเป็นโสด แต่หลังจากนั้นจำเลยเดินทางไปแต่งงานและอยู่กินกับหญิงอื่นที่ประเทศปากีสถานนานประมาณ 1 ปี แล้วจำเลยกลับเข้ามาอยู่กินกับโจทก์ด้วยในประเทศไทยจนมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองดังกล่าวโดยจำเลยไปๆ มาๆ ทั้งประเทศปากีสถานและประเทศไทย ดังนี้ แม้การอยู่กินเป็นสามีภริยาในลักษณะดังกล่าวจะชอบด้วยลัทธิศาสนาของจำเลยและปัจจุบันหญิงอื่นนั้นจะสำนักอยู่ในต่างประเทศก็ตามแต่ก็เป็นการแจ้งชัดว่าจำเลยอยู่กินมีหญิงอื่นเป็นภริยาอีกคนนอกจากโจทก์ หาใช่มีเพียงโจทก์เพียงลำพังไม่ เมื่อประกอบกับการที่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองย้ายถิ่นสำนักและ ไปศึกษาอยู่ในประเทศปากีสถานเป็นไปโดยการริเริ่มของจำเลยที่ต้องการให้มารดาของจำเลยซึ่งอยู่ในประเทศดังกล่าวเป็นผู้ดูแลบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเนื่องจากผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชายถือเป็นตัวแทนของจำเลยที่จะอยู่กับมารดาของจำเลยตามลัทธิที่จำเลยเชื่อ เพื่อดูแลทรัพย์สินของครอบครัวจำเลยในประเทศดังกล่าวจนกระทั่งเป็นเหตุให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองไม่สามารถพูดและเขียนภาษาไทย ทั้ง ๆ ที่ผู้เยาว์ทั้งสองเกิดในราชอาณาจักรต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารของประเทศไทยและเป็นบุตรของโจทก์ด้วย โดยโจทก์ก็ดี จำเลยก็ดีอยู่ในฐานะสามารถอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในประเทศไทยได้โดยไม่ขัดสน พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวบุตรผู้เยาว์ทั้งสองโดยมิชอบไม่เปิดโอกาสให้โจทก์กับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอุปการะปฏิการะแก่กันตามศีลธรรมอันดีจึงต้องถอนอำนาจปกครองของจำเลยในส่วนสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามมาตรา 1567 (1) แห่ง ป.พ.พ. โดยให้เป็นสิทธิเฉพาะของโจทก์ผู้เป็นมารดาและเมื่อถอนอำนาจปกครองเฉพาะส่วนดังกล่าวแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกบุตรทั้งสองคืนจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยนำเด็กชายเกษม ราซาหรือราซ่าและเด็กชายดนัย ราซาหรือราซ่า กลับประเทศไทยเพื่อให้อยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยในการยินยอมให้โจทก์นำเด็กชายเกษมและเด็กชายดนัยกลับประเทศไทยเพื่อให้อยู่ในความปกครองของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำเด็กชายเกษม ราซาหรือราซ่า และเด็กชายดนัย ราซาหรือราซ่า กลับมาคืนให้โจทก์ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในประเทศไทย ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ตั้งแต่ปี 2539 โจทก์ซึ่งเป็นหญิงสัญชาติไทยกับจำเลยซึ่งเป็นชายสัญชาติปากีสถานได้อยู่กินเป็นสามีภรรยากันในประเทศไทยโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย ระหว่างอยู่กินมีบุตรผู้เยาว์ด้วยอีก 2 คน คือเด็กชายเกษม ราซาหรือราซ่า เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 และเด็กชายดนัย ราซาหรือราซ่า เกิดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2539 เดิมโจทก์และจำเลยร่วมกันจัดให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองพักอาศัยและเล่าเรียนอยู่ในประเทศไทย จนกระทั่งปี 2542 โจทก์กับจำเลยตกลงกันพาบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปประเทศปากีสถาน ระหว่างพักอาศัยอยู่ในประเทศดังกล่าวนั้นโจทก์เกิดความคับข้องใจจนไม่อาจอาศัยอยู่ในประเทศปากีสถานได้เป็นเหตุให้โจทก์ต้องกลับประเทศไทย โดยบุตรผู้เยาว์ทั้งสองยังอยู่กับจำเลยที่ประเทศปากีสถาน ต่อมาจำเลยกลับมาอยู่ในประเทศไทยแต่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ยังคงศึกษาเล่าเรียนและอยู่กับมารดาของจำเลยที่ประเทศปากีสถานจนถึงปัจจุบันมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องคืนบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่โจทก์ดังที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษาหรือไม่ เบื้องแรกเมื่อปรากฏข้อความจริงดังที่โจทก์มิได้โต้แย้งตามเอกสารท้ายฎีกาของจำเลยว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยจดทะเบียนรับเด็กชายเกษม ราซาหรือราซ่า และเด็กชายดนัย ราซาหรือราซ่า ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ตามคดีหมายเลขดำที่ 1832/2549 คดีหมายเลขแดงที่ 26/2550 ดังนั้น นอกจากผู้เยาว์ทั้งสองจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ผู้เป็นมารดาแล้ว ผู้เยาว์ทั้งสองย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยผู้เป็นบิดาเช่นเดียวกันด้วย ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 จำเลยจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเช่นกัน อย่างไรก็ดี ได้ความตามข้อนำสืบของจำเลยว่า ขณะเริ่มอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์จำเลยยังเป็นโสด แต่หลังจากนั้นจำเลยเดินทางไปแต่งงานและอยู่กินกับหญิงอื่นที่ประเทศปากีสถานนานประมาณ 1 ปี แล้วจำเลยกลับเข้ามาอยู่กินกับโจทก์ด้วยในประเทศไทยจนมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองดังกล่าวโดยจำเลยไปๆ มาๆ ทั่งประเทศปากีสถานและประเทศไทย ดังนี้ แม้การอยู่กินเป็นสามีภริยาในลักษณะดังกล่าวจะชอบด้วยลัทธิศาสนาของจำเลยและปัจจุบันหญิงอื่นนั้นจะได้พำนักอยู่ในต่างประเทศก็ตาม แต่ก็เป็นการแจ้งชัดว่าจำเลยอยู่กินมีหญิงอื่นเป็นภริยาอีกคนนอกจากโจทก์หาใช่มีโจทก์เพียงลำพังไม่ เมื่อประกอบกับการที่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองย้ายถิ่นพำนักและไปศึกษาอยู่ในประเทศปากีสถานเป็นไปโดยการริเริ่มของจำเลยที่ต้องการให้มารดาของจำเลยซึ่งอยู่ในประเทศดังกล่าวเป็นผู้ดูแลบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเนื่องจากผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชายถือเป็นตัวแทนของจำเลยที่จะอยู่กับมารดาของจำเลยตามลัทธิที่จำเลยเชื่อเพื่อดูแลทรัพย์สินของครอบครัวจำเลยในประเทศดังกล่าวจนกระทั่งเป็นเหตุให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองไม่สามารถพูดและเขียนภาษาไทยดังที่จำเลยเองหยิบยกอ้างไว้ในฎีกาทั้งๆ ที่ผู้เยาว์ทั้งสองเกิดในราชอาณาจักร ต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารของประเทศไทยและเป็นบุตรของโจทก์ด้วย โดยโจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี อยู่ในฐานะสามารถอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในประเทศไทยได้โดยไม่ขัดสน ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวบุตรผู้เยาว์ทั้งสองโดยมิชอบ ไม่เปิดโอกาสให้โจทก์กับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอุปการะปฏิการะแก่กันตามศีลธรรมอันดี จึงอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ถอนอำนาจปกครองของจำเลยในส่วนสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1567 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้เป็นสิทธิเฉพาะของโจทก์ผู้เป็นมารดา และเมื่อถอนอำนาจปกครองเฉพาะส่วนดังกล่าวแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกบุตรทั้งสองคืนจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share