คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1371/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความฟ้องคดีขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายไว้โดยเฉพาะ ทำให้ต้องใช้อายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้าของมรดก โจทก์รู้ถึงความตายของ อ. เจ้าของมรดกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 เนื่องจากโจทก์ไปร่วมงานศพของ อ. ด้วย โจทก์จึงต้องฟ้องร้องเพื่อมีคำขอให้ศาลบังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ อ. ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ภายใน 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2542 แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะมีอายุความยาวกว่า 1 ปี กฎหมายก็บังคับให้โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ถึงความตายของ อ. ซึ่งเป็นเจ้ามรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 หลังจากได้รู้ถึงความตายของ อ. เกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4048 ตำบลท่าจะหลุง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายอารีย์ ซึ่งมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4048 ตำบลท่าจะหลุง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า นายอิ่มเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4048 ตำบลท่าจะหลุง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 13 ธันวาคม 2541 นายอิ่มถึงแก่ความตาย โจทก์รู้ถึงความตายของนายอิ่มเนื่องจากโจทก์ไปร่วมงานศพด้วย ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งจำเลยซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายนายอิ่มเป็นผู้จัดการมรดกของนายอิ่ม โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายซึ่งมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นายอิ่มทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2535 โจทก์ ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ นั้น เห็นว่า แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความฟ้องคดีขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายไว้โดยเฉพาะ ทำให้ต้องใช้อายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 ก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปีมิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์รู้ถึงความตายของนายอิ่มเจ้ามรดกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 เนื่องจากโจทก์ไปร่วมงานศพของนายอิ่มด้วย โจทก์จึงต้องฟ้องร้องเพื่อมีคำขอให้ศาลบังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายอิ่มดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ภายใน 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2542 แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะมีอายุความยาวกว่า 1 ปี กฎหมายก็บังคับให้โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ถึงความตายของนายอิ่มซึ่งเป็นเจ้ามรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 หลังจากได้รู้ถึงความตายของนายอิ่มเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share