แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิด และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ คดีนี้จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ซึ่งเป็นการรับสารภาพว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น มิได้ให้การรับด้วยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 รับในเรื่องการเพิ่มโทษและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เอง แม้โจทก์มีพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 3 ไปตรวจสอบประวัติ ผลการตรวจสอบระบุว่า จำเลยที่ 3 ถูกดำเนินคดีข้อหาปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2548 ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 22 ปี 6 เดือน รับลดกึ่งหนึ่ง จำคุก 11 ปี 3 เดือน ก็ตาม แต่พยานปากดังกล่าวมิได้เบิกความว่า คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 ได้กระทำผิดในคดีนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 92, 93, 340, 340 ตรี, 362, 364, 365, 371 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 25,000 บาท แก่ผู้เสียหาย เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามกฎหมายและนับโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2310/2555 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 371, 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 340 วรรคสอง 340 ตรี ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 18 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 24 ปี และเพิ่มโทษจำเลยที่ 4 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 27 ปี ปรับคนละ 100 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 12 ปี จำเลยที่ 4 จำนวน 13 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 50 บาท ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้นับโทษต่อ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนจำนวน 25,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะกับฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 100 บาท ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 4 คงลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำคุกคนละ 18 ปี และปรับคนละ 100 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 9 ปี และปรับคนละ 50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับคดีของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้เพิ่มโทษและมีคำขอท้ายฟ้องระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ไว้อย่างชัดเจน เมื่อจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงรับฟังได้เป็นที่ยุติตามฟ้องโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่จำต้องนำพยานหลักฐานสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิด และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ คดีนี้จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ตามคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นการรับสารภาพว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น มิได้ให้การรับด้วยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้ให้การรับในประเด็นดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 รับในเรื่องการเพิ่มโทษและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เอง แม้โจทก์มีร้อยตำรวจโทปฐมพงศ์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 3 ไปตรวจสอบประวัติ ผลการตรวจสอบประวัติของจำเลยที่ 3 ตามผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา ซึ่งตามเอกสารดังกล่าว แผ่นที่ 5 ระบุว่า จำเลยที่ 3 ถูกดำเนินคดีข้อหาปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2548 ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 22 ปี 6 เดือน รับลดกึ่งหนึ่ง จำคุก 11 ปี 3 เดือน ก็ตาม แต่พยานปากดังกล่าวก็มิได้เบิกความว่า คดีอาญาดังกล่าว ถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 ได้กระทำผิดในคดีนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน