คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8898/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คณะกรรมการมอบอำนาจให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินการจัดให้มีการประชุมในบางเรื่องย่อมกระทำได้ ดังนั้น การมอบอำนาจให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้มีอำนาจออกหนังสือเชิญประชุมใหญ่ย่อมกระทำได้และไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมาย ทั้งไม่ทำให้การเรียกประชุมใหญ่เสียไปแต่อย่างใด การจัดให้มีการประชุมใหญ่ แม้พ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีย่อมเป็นผลดีแก่ผู้เป็นเจ้าของร่วม หากมีการประชุมตามวาระและลงมติโดยถูกต้องแล้ว การประชุมใหญ่ดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่างบดุลและรายงานประจำปี 2555 ไม่ถูกต้อง และที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 มีมติรับรองแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ ส่วนการประชุมวาระที่ 6 และวาระที่ 7 ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ปรับขึ้นค่าใช้จ่ายส่วนกลางด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (5) จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ในวาระดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556 เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556 วาระที่ 3 รับรองงบดุลประจำปี 2555 วาระที่ 4 รับรองให้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 79/62 วาระที่ 5 รับรองให้ดำเนินการร้องขอให้มีการโอนสำนักงานที่ทำการจำเลย วาระที่ 6 พิจารณาเรื่องก่อสร้างสำนักงานที่ทำการจำเลย และวาระที่ 7 รับรองให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพิ่มเติมจากเดิมอีก 5 บาท ต่อตารางเมตร
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า การจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 จะต้องมีการดำเนินการต่าง ๆ หลายประการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/1 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเพื่อให้การจัดประชุมสามารถดำเนินการได้ การที่คณะกรรมการมอบอำนาจให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินการจัดให้มีการประชุมในบางเรื่องย่อมกระทำได้ และตามบทบัญญัติมาตรา 36 (1) ที่บัญญัติให้ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตามข้อบังคับ หรือตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย การมอบอำนาจให้ผู้จัดการเป็นผู้มีอำนาจออกหนังสือเชิญประชุมใหญ่ย่อมกระทำได้และไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมาย ทั้งไม่ทำให้การเรียกประชุมใหญ่เสียไปแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีการจัดให้มีการประชุมใหญ่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42/1 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อให้มีการประชุมเจ้าของร่วมปีละหนึ่งครั้งเพื่อพิจารณาในเรื่องสาระสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 เพื่อให้เจ้าของร่วมได้สอดส่องดูแลการบริหารอาคารชุด การจัดให้มีการประชุมแม้พ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีย่อมเป็นผลดีแก่ผู้เป็นเจ้าของร่วม หากมีการประชุมตามวาระและลงมติโดยถูกต้องแล้ว การประชุมใหญ่ดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฎหมาย ส่วนงบดุลประจำปี 2555 พยานโจทก์ปากนางรัศณีเบิกความว่า งบดุลและงบการเงินไม่ถูกต้อง แต่พยานโจทก์ปากนายเอกชัย ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติราชการเกี่ยวข้องกับอาคารชุดเบิกความว่า งบดุลประจำปี 2555 มีการจัดทำถูกต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย พยานปากนี้เป็นพยานคนกลางเบิกความตามความรู้และหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือและเจือสมกับพยานจำเลยปากนางสาวปัทมา และนายนคร ซึ่งเบิกความยืนยันว่า งบดุลดังกล่าวถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่างบดุลและรายงานประจำปี 2555 ไม่ถูกต้อง และที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 มีมติรับรองแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ การรับรองงบดุลและรายงานประจำปี 2555 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การประชุมวาระที่ 4 ที่ประชุมใหญ่มีมติที่ให้รับโอนห้องชุดเลขที่ 79/62 ให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางจึงเป็นไปไม่ได้ เป็นการผิดต่อพระราชบัญญัติอาคารชุดพ.ศ.2522 และอ้างว่ามติให้รับโอนกรรมสิทธิ์เป็นคำสนองที่ไม่มีคำเสนอผิดเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ส่วนการประชุมวาระที่ 5 เป็นเรื่องดำเนินการขอให้มีการโอนสำนักงานที่ทำการของจำเลย ซึ่งที่ประชุมใหญ่มีมติรับรองให้ดำเนินการร้องขอให้โอนสำนักงานที่ทำการของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่จะบังคับให้โอนห้องชุดเลขที่ 79/7 ให้แก่จำเลยแต่อย่างใด สำหรับการประชุมวาระที่ 6 เป็นเรื่องก่อสร้างสำนักงานที่ทำการของจำเลย ซึ่งที่ประชุมใหญ่มีมติกำหนดพื้นที่ส่วนกลางบริเวณที่จอดรถชั้นล่างติดกับห้องชุดเลขที่ 79/7 ให้ก่อสร้างเป็นสำนักงานที่ทำการของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (6) และการประชุมวาระที่ 7 เป็นเรื่องการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพิ่ม โดยอ้างอิงข้อมูลงบดุลประจำปี 2555 ที่ถูกต้องและที่ประชุมใหญ่มีมติให้ปรับขึ้นค่าใช้จ่ายส่วนกลางด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (5) จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 วาระที่ 6 และที่ 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การเรียกประชุมใหญ่และกำหนดวาระการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 โดยผู้จัดการจำเลย มิใช่คณะกรรมการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่คณะกรรมการจำเลยสมคบกับผู้จัดการจำเลยไม่ทำตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีละหนึ่งครั้งภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของจำเลยตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/1 เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของแต่ละฝ่ายอันเป็นการผิดกฎหมายเฉพาะ จึงนำมาตรา 36 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายทั่วไปมาหักล้างไม่ได้ การที่คณะกรรมการจำเลยไม่ทำตามหน้าที่ดังกล่าวแต่ไปสมคบกับจำเลยและผู้จัดการซึ่งกระทำผิดต้องรับโทษตามมาตรา 71 และต้องพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการตามมาตรา 35/3 (5) ไปก่อนแล้ว การเรียกประชุมใหญ่โดยผู้จัดการซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่และฝ่าฝืนต่อเงื่อนเวลาตามที่กฎหมายบังคับไว้ เป็นการเรียกประชุมที่ผิดกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน งบดุลที่จำเลยทำมาเสนอต่อประชุมใหญ่ให้รับรองไม่มีผู้ทำบัญชีลงนามตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 38/1, 36 (4) และไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 มาตรา 20 แม้เจ้าของร่วมส่วนใหญ่จะลงมติรับรองก็ไม่ทำให้งบดุลดังกล่าวที่ทำขึ้นโดยผิดแบบกฎหมายกลับเป็นถูกต้องตามกฎหมายได้ อุทธรณ์ของโจทก์ได้โต้แย้งข้อวินิจฉัยคดีของศาลชั้นต้นที่ไม่เพิกถอนมติผิดกฎหมายในการประชุมวาระที่ 4 แล้ว เพราะว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นตามคำคู่ความฝ่ายจำเลย และเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ผิดกฎหมาย ทั้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายจากการวินิจฉัยคดีของศาลชั้นต้นไปตามแนวทางที่ผิดกฎหมายของฝ่ายจำเลย จึงเป็นอุทธรณ์ข้อกฎหมายในคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ส่วนการประชุมวาระที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นการลงมติที่มิชอบด้วยพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share