แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมอบที่ดินพิพาทและอนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน มิได้มีผลให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คงมีแต่เพียงสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ” นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครราชสีมาแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าหากจำหน่ายจ่ายโอนหรือให้เช่าที่ดินพิพาท โจทก์จะสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททันที การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าให้จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาท มิได้โอนขายสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองและโจทก์ยังมีชื่อเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทไปจากโจทก์เอง ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท ส่วนการที่จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) แปลงที่ 14 กลุ่มที่ 1073 จังหวัดนครราชสีมา กับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าขาดประโยชน์ปีละ 207,187 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโจทก์ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4- 01) แปลงที่ 14 กลุ่มที่ 1073 จังหวัดนครราชสีมา และส่งมอบต้นฉบับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2536 โจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เลขที่ 3704 แปลงที่ 14 ตำบลบ้านยาง อำเภอชุมพวง (ปัจจุบันเป็นอำเภอลำทะเมนชัย) จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตามสารบัญทะเบียนที่ดินระบุข้อต้องห้ามมิให้แบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่น ในปี 2542 โจทก์มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองเข้าทำประโยชน์ตลอดมา โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่าโจทก์ให้จำเลยทั้งสองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนการชำระหนี้ต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยหรือโอนสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าโจทก์กู้ยืมเงินจำเลยทั้งสองจำนวน 60,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มีกำหนดเวลา 10 ปี รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 150,000 บาท โดยตกลงกันให้จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาทเป็นเวลา 10 ปี หักค่าเช่าชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวและให้จำเลยทั้งสองยึดถือหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ไว้เป็นประกัน โดยโจทก์มีแต่ตัวโจทก์และนายทองใบ เป็นพยานเบิกความลอย ๆ อ้างเรื่องดังกล่าวโดยโจทก์รับว่าไม่ได้ทำทั้งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาเช่าที่ดินไว้เป็นหลักฐานเลย ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยและไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่งจึงมีน้ำหนักน้อย ในขณะที่จำเลยทั้งสองมีนายณรงค์ ผู้ใหญ่บ้านและนายสุหลา ผู้ทำประโยชน์ในที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทเป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองในทำนองเดียวกันกับชาวบ้านหลายรายในละแวกนั้นที่รู้ว่าการโอนขายที่ดินเช่นนี้ต้องห้ามตามกฎหมายจึงไม่มีการทำหนังสือสัญญาซื้อขายกัน เฉพาะนายสุหลายังเบิกความชัดเจนว่าเคยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์และโจทก์เคยบอกขายที่ดินพิพาทให้แต่นายสุหลาไม่มีเงินจะซื้อ โจทก์จึงไปขายให้จำเลยทั้งสอง พยานทั้งสองปากนี้ถือได้ว่าเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียหรือสาเหตุโกรธเคืองกับคู่ความทั้งสองฝ่าย พยานจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์โอนขายสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองดังที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องว่าให้จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาทแทนที่จะยอมรับว่าโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองแต่ตกเป็นโมฆะกรรม อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมอบที่ดินพิพาทและอนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน มิได้มีผลให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คงมีแต่เพียงสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ” นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครราชสีมาแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าหากจำหน่ายจ่ายโอนหรือให้เช่าที่ดินพิพาท โจทก์จะสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททันที การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าให้จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาท มิได้โอนขายสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองและโจทก์ยังมีชื่อเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทไปจากโจทก์เอง ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ส่วนการที่จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทราบ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ