แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในชั้นบังคับคดีศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวพร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์ จำเลยฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดี ดังนี้การที่จำเลยร้องขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลอุทธรณ์หรือฎีกาขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับ หาใช่เป็นเรื่องขอทุเลาการบังคับคดีไม่ แต่เป็นการร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 จำเลยจึงไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228(2),247 จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้อง แม้ในที่สุดศาลอุทธรณ์จะพิพากษาไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์จำเลยก็จะไม่ได้ประโยชน์แต่ประการใด เพราะโจทก์ก็จะเป็นผู้ได้รับเงินซึ่งได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ไปแต่ผู้เดียวจึงไม่มีประโยชน์ที่จะกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยออกขายทอดตลาดผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเฉลี่ยในจำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดจำเลยยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง จำเลยอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดีระหว่างอุทธรณ์ จำเลยฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดีไว้ในระหว่างอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปรากฏในคำขอท้ายฎีกาของจำเลย ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า กรณีของจำเลยเป็นเรื่องขอทุเลาการบังคับคดีระหว่างอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องขอทุเลาการบังคับคดีระหว่างอุทธรณ์ก็เป็นอำนาจของแต่ละชั้นศาลเมื่อศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดีแล้ว จำเลยจะขอทุเลาการบังคับคดีระหว่างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไม่ได้ ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยร้องขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลอุทธรณ์ก็ดี หรือฎีกาขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีก็ดี แท้จริงหาใช่เป็นเรื่องขอทุเลาการบังคับคดีไม่ แต่เป็นเรื่องการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228(2), 247
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรที่จะกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้อง ดังนั้นแม้ในที่สุดศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ จำเลยก็จะไม่ได้ประโยชน์แต่ประการใดเพราะโจทก์ก็จะเป็นผู้ได้รับเงินซึ่งได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ไปแต่ผู้เดียว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยไว้ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของคำสั่งของศาลอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ”