แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 นั้น ต้องเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วกับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นนั้นได้รับการจดทะเบียนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งนี้ โดยผู้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้านั้นมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนของบุคคลอื่น
โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรกับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า ข้าว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กำลังจะส่งออกไปต่างประเทศซึ่งสินค้าข้าวสารนึ่งบรรจุกระสอบจำนวน 3,491 กระสอบ ปรากฏว่าที่ด้านหลังกระสอบบรรจุข้าวดังกล่าว ตรงลูกศรชี้ข้างล่างมีชื่อและที่อยู่บริษัทโจทก์ที่ 2 พร้อมตราสัญลักษณ์ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์นกอินทรีบนลูกโลกและช่อรวงข้าวผูกริบบิ้นในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังภาพ ซึ่งเห็นได้ว่าตราสัญลักษณ์ ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับตราเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏอยู่ที่ด้านหน้ากระสอบ ชื่อและที่อยู่ของบริษัทโจทก์ที่ 2 ที่ปรากฏอยู่บนกระสอบด้านหลังข้างล่างนั้นเป็นชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกซึ่งต้องระบุไว้ที่สินค้าที่ส่งออกตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งการระบุชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ข้าว) (เพื่อกิจการที่เป็นการค้า) ซึ่งระบุชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งออก ประกอบกับโจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่มีตราเครื่องหมายขนาดเล็กที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ที่ด้านล่างกระสอบวัตถุพยาน โจทก์ที่ 2 ก็ได้ใช้ตราเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ในลักษณะทำนองเดียวกันดังกล่าวกับสินค้าข้าวที่โจทก์ที่ 2 ส่งออกอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อทำหน้าที่แยกแยะความแตกต่างของสินค้าข้าวของโจทก์ที่ 2 กับสินค้าข้าวของบุคคลอื่นโดยมิใช่เพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออก ดังนี้ การที่มีตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏอยู่ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 บนกระสอบ จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ส่วนประกอบส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทผู้ส่งออกเท่านั้น การใช้ตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกดังกล่าวมิใช่การใช้ตราเครื่องหมายนั้นอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าข้าวที่ส่งออกแตกต่างกับสินค้าข้าวที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายที่ทำหน้าที่เครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าข้าวที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ส่งออกในวันเกิดเหตุเพื่อแยกแยะความแตกต่างของสินค้าว่าเป็นของผู้ใดหรือมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใดนั้นปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบ คือเครื่องหมาย ซึ่งไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้เครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามที่ปรากฏอยู่หน้าชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อระบุว่าสินค้าข้าวนั้นเป็นของผู้ผลิตรายใดและเพื่อแยกแยะสินค้าข้าวนั้นว่าแตกต่างจากสินค้าข้าวของบุคคลอื่น การที่ปรากฏเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ที่กระสอบด้านหลังข้างล่างที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบ ซึ่งเป็นกระสอบที่ใช้บรรจุสินค้าข้าวเพื่อส่งออกไปต่างประเทศในวันเกิดเหตุ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109
เมื่อสินค้าข้าวจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลางมิใช่สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อจำหน่าย จึงไม่อาจริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 ได้ ส่วนรถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลางที่ใช้บรรทุกข้าวสารนึ่งจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลาง และอุทธรณ์ขอให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 นั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 รถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้
ย่อยาว
โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปด ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109, 110, 114 และ 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 83 ริบข้าวสารนึ่งบรรจุกระสอบที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 จำนวน 3,491 กระสอบ รถยนต์บรรทุกพ่วงและหางพ่วงจำนวน 5 คันของกลาง
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109, 110, 114 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 (ที่ถูก มาตรา 109 ประกอบมาตรา 114 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 100,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างเห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 75,000 บาท กรณีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่ถูก หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30) ริบข้าวสารนึ่งบรรจุกระสอบจำนวน 3,491 กระสอบ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตรวจวินิจฉัยว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 และยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหาความผิดฐานร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าข้าวสารนึ่งจำนวน 3,491 กระสอบ ที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โจทก์ทั้งสองไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 และสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกระทำความผิดฐานร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรกับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้าข้าว เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 ประกอบมาตรา 114 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 นั้น ต้องเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วกับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นนั้นได้รับการจดทะเบียนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งนี้ โดยผู้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้านั้นมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนของบุคคลอื่น ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 หรือไม่นั้นปรากฏข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรกับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า ข้าว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กำลังจะส่งออกไปต่างประเทศซึ่งสินค้าข้าวสารนึ่งบรรจุกระสอบจำนวน 3,491 กระสอบ ที่อยู่ที่ลานบรรจุสินค้าของบริษัทเอเวอร์กรีน จำกัด แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าที่ด้านหลังกระสอบบรรจุข้าวดังกล่าวตรงลูกศรชี้ข้างล่างมีชื่อและที่อยู่บริษัทโจทก์ที่ 2 พร้อมตราสัญลักษณ์ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์นกอินทรีบนลูกโลกและช่อรวงข้าวผูกริบบิ้นในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังภาพ ซึ่งเห็นได้ว่าตราสัญลักษณ์ ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับตราเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏอยู่ที่ด้านหน้ากระสอบตามวัตถุพยานหรือภาพถ่าย ซึ่งในข้อนี้ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองว่า ชื่อและที่อยู่ของบริษัทโจทก์ที่ 2 ที่ปรากฏอยู่บนกระสอบด้านหลังข้างล่างตามวัตถุพยานหรือภาพถ่าย นั้น เป็นชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกซึ่งต้องระบุไว้ที่สินค้าที่ส่งออกตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งการระบุชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ข้าว) (เพื่อกิจการที่เป็นการค้า) ซึ่งระบุชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งออก ประกอบกับโจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่มีตราเครื่องหมายขนาดเล็กที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ที่ด้านล่างกระสอบวัตถุพยาน โจทก์ที่ 2 ก็ได้ใช้ตราเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ในลักษณะทำนองเดียวกันดังกล่าวกับสินค้าข้าวที่โจทก์ที่ 2 ส่งออกอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อทำหน้าที่แยกแยะความแตกต่างของสินค้าข้าวของโจทก์ที่ 2 กับสินค้าข้าวของบุคคลอื่นโดยมิใช่เพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออก ดังนี้ การที่มีตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏอยู่ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 บนกระสอบจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ส่วนประกอบส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทผู้ส่งออกเท่านั้น การใช้ตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกดังกล่าวมิใช่การใช้ตราเครื่องหมายนั้นอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าข้าวที่ส่งออกแตกต่างกับสินค้าข้าวที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายที่ทำหน้าที่เครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าข้าวที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ส่งออกในวันเกิดเหตุเพื่อแยกแยะความแตกต่างของสินค้าว่าเป็นของผู้ใดหรือมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใดนั้นปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบคือเครื่องหมาย ซึ่งไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ใช้เครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ที่ปรากฏอยู่หน้าชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อระบุว่าสินค้าข้าวนั้นเป็นของผู้ผลิตรายใดและเพื่อแยกแยะสินค้าข้าวนั้นว่าแตกต่างจากสินค้าข้าวของบุคคลอื่น การที่ปรากฏเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ที่กระสอบด้านหลังข้างล่างที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบดังที่ปรากฏในวัตถุพยานหรือภาพถ่ายซึ่งเป็นกระสอบที่ใช้บรรจุสินค้าข้าวเพื่อส่งออกไปต่างประเทศในวันเกิดเหตุจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 เมื่อสินค้าข้าวจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลางมิใช่สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อจำหน่าย จึงไม่อาจริบตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 ได้ ส่วนรถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลาง ที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้บรรทุกข้าวสารนึ่งจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลาง และอุทธรณ์ขอให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 นั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 รถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 ประกอบมาตรา 114 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และให้ริบข้าวสารนึ่งบรรจุกระสอบจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลางนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1และที่ 2 ฟังขึ้น ส่วนที่ศาลดังกล่าวพิพากษาให้ยกคำขอริบรถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลาง เพราะเห็นว่าไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย และให้ยกคำขอริบข้าวสารนึ่งบรรจุกระสอบจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง