คำสั่งศาลฎีกาที่ 2996/2557

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 115 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา….(9) ไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี” ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นตามความในมาตรา 115 (9) มิได้หมายความรวมถึงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 259 บัญญัติว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองดังต่อไปนี้….(4) สมาชิกวุฒิสภา….” จะเห็นได้ว่า มาตรา 259 (4) บัญญัติไว้ชัดเจนว่าสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้มาตรา 115 บัญญัติในหมวด 6 รัฐสภาส่วนที่ 3 วุฒิสภา แต่บทบัญญัติมาตราดังกล่าว เป็นบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นที่ระบุในมาตราดังกล่าวหมายถึงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งหมายความรวมถึงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 116 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ว่า “สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น…มิได้” อันมีความหมายว่า ผู้ที่มีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในขณะนั้นจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งทางการเมืองอื่นใดอีกมิได้ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับมาตรา 117 วรรคสอง ที่บัญญัติห้ามมิให้สมาชิกวุฒิสภาดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าหนึ่งวาระซึ่งเป็นเจตนารมณ์โดยชัดแจ้งของรัฐธรรมนูญที่ไม่ประสงค์จะให้สมาชิกวุฒิสภาดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าหนึ่งวาระ ส่วนมาตรา 297 ก็เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาในวาระเริ่มแรกเท่านั้นที่มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระ มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าวในการสรรหาในคราวถัดไปหลังจากสิ้นสุดสมาชิกภาพ หากบุคคลผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาก็ต้องพิจารณาว่ามีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 115 หรือไม่ เมื่อรับฟังเป็นที่ยุติว่า ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา หมายความรวมถึง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตามความหมายในมาตรา 115 (9) ด้วยแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงรับก็ฟังได้ว่าผู้ร้องสิ้นสุดสมาชิกภาพจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 นับถึงวันเลือกตั้งยังไม่เกินห้าปี ผู้ร้องจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 115 (9)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557 ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งจังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2557 ผู้คัดค้านที่ 2 มีหนังสือแจ้งการไม่รับสมัครผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยอ้างเหตุว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 115 (9) เนื่องจากผู้ร้องเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหาเมื่อปี 2551 และสิ้นสุดสมาชิกภาพตามวาระเมื่อปี 2554 ถือว่าผู้ร้องดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น และพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี จึงขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ร้องเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นตามความในมาตรา 115 (9) ไม่ได้หมายความรวมถึงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาหรือผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครผู้ร้องและประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งจังหวัดสุพรรณบุรี
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า เหตุที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากผู้ร้องเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและพ้นตำแหน่งยังไม่เกินห้าปี จึงถือว่าผู้ร้องเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ร้องจึงขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไป พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2557 ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งจังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2557 ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยอ้างว่าผู้ร้องเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 และสิ้นสุดสมาชิกภาพเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 ถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นและพ้นตำแหน่งยังไม่เกินห้าปี จึงมีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 115 (9) มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องขาดคุณสมบัติหรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 115 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา…. (9) ไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี” ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นตามความในมาตรา 115 (9) มิได้หมายความรวมถึงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 259 บัญญัติว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองดังต่อไปนี้….(4) สมาชิกวุฒิสภา….” จะเห็นได้ว่า มาตรา 259 (4) บัญญัติไว้ชัดเจนว่าสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้มาตรา 115 บัญญัติในหมวด 6 รัฐสภาส่วนที่ 3 วุฒิสภาแต่บทบัญญัติมาตราดังกล่าว เป็นบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นที่ระบุในมาตราดังกล่าวหมายถึงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งหมายความรวมถึงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 116 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ว่า “สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น…มิได้” อันมีความหมายว่า ผู้ที่มีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในขณะนั้นจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งทางการเมืองอื่นใดอีกมิได้ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับมาตรา 117วรรคสอง ที่บัญญัติห้ามมิให้สมาชิกวุฒิสภาดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าหนึ่งวาระซึ่งเป็นเจตนารมณ์โดยชัดแจ้งของรัฐธรรมนูญที่ไม่ประสงค์จะให้สมาชิกวุฒิสภาดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าหนึ่งวาระส่วนมาตรา 297 ก็เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาในวาระเริ่มแรกเท่านั้นที่มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระ มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าวในการสรรหาในคราวถัดไปหลังจากสิ้นสุดสมาชิกภาพ หากบุคคลผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาก็ต้องพิจารณาว่ามีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 115 หรือไม่ เมื่อรับฟังเป็นที่ยุติว่า ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา หมายความรวมถึง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นตามความหมายในมาตรา 115 (9) ด้วยแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงรับก็ฟังได้ว่าผู้ร้องสิ้นสุดสมาชิกภาพจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 นับถึงวันเลือกตั้งยังไม่เกินห้าปี ผู้ร้องจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 115 (9) ที่ผู้คัดค้านไม่รับสมัครผู้ร้องและไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภานั้นชอบแล้ว คำร้องของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share