คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1569/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นโดยข้อบังคับของนายจ้าง นายจ้างมีสิทธิที่จะกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายจ้างได้ จำเลยผู้เป็นนายจ้างกำหนดไว้ว่าพนักงานของจำเลยเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 120 วัน มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำก็หมายถึงสิทธิที่ลูกจ้างประจำมีอยู่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ เท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุ จำเลยไม่จ่ายบำเหน็จให้ตามข้อบังคับ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นเพียงลูกจ้างรายวันไม่ใช่พนักงานของจำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 120 วันตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 75 ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำนั้น เห็นว่า สิทธิของลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันเกิน 120 วันโดยรวมวันหยุด วันลา และวันที่นายจ้างสั่งหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้างที่จะพึงมีเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ หมายถึงสิทธิที่ลูกจ้างประจำพึงมีอยู่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 เช่นมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างเป็นต้น แต่สิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จนี้เป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นโดยข้อบังคับของจำเลย ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยได้ และจำเลยก็ได้กำหนดไว้ว่าพนักงานของจำเลยเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ และได้ให้บทนิยามคำว่า “พนักงาน” ไว้ตามข้อบังคับองค์การแก้วว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 3.2 ว่า “พนักงาน” หมายความว่า ผู้อำนวยการและพนักงานประจำตามอัตรากำลังขององค์การแก้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้มีฐานะเป็นพนักงานประจำตามอัตรากำลังของจำเลย ย่อมมิใช่ลูกจ้างผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การแก้วว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share