คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทสินสมรสซึ่งเป็นสินบริคณห์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1462 เดิมสามีย่อมมีสิทธิจัดการสินบริคณห์รวมทั้งฟ้องคดีด้วย ตามพระราชบัญญัติ ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 โดยไม่ต้องได้รับ ความยินยอมจากภรรยา

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่นาพิพาทกับที่ดินสวนยางพาราที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง สำหรับคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนนาพิพาทให้โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วนั้น เมื่อที่นาพิพาทไม่ได้เป็นของจำเลยที่ 1 ยังเป็นของโจทก์อยู่ จึงไม่อาจบังคับให้โอนที่นาพิพาทให้โจทก์ ให้ยกคำขอส่วนนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยจำเลยที่ 1 เป็นพี่ทั้งบิดาและมารดาต่างถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว จำเลยที่ 2เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ที่นาและสวนยางพิพาทเดิมเป็นของบิดา ปัญหาวินิจฉัยมีว่าที่นาและสวนยางพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์นายหะยีเหย็บ ยีหมัดอาลี และนายเจ๊ะหมาด เก็บบิลหมาน เบิกความว่าเมื่อบิดาโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมได้มีการแบ่งทรัพย์มรดก โดยโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านเป็นผู้จัดการแบ่ง ที่นาแปลงที่อยู่หมู่ที่ 2 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ได้แบ่งกันคนละครึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ส่วนทางทิศเหนือ จำเลยที่ 1 ได้ส่วนทางทิศใต้ สวนยางพิพาทก็แบ่งให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินแปลงอื่น โจทก์ได้ครอบครองที่นาและสวนยางพิพาทตั้งแต่ได้รับแบ่งให้ตลอดมา ศาลฎีกาเห็นว่า นายหะยีเหย็บเคยเป็นกรรมการอิสลามประจำหมู่บ้านในขณะที่บิดาโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม และในขณะเบิกความก็เป็นโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านสืบต่อจากโต๊ะอิหม่ามคนที่จัดการแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าว ส่วนนายเจ๊ะหมาดเป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองท้องที่ที่ทรัพย์พิพาทตั้งอยู่ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองรับฟังได้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ซึ่งเป็นแบบสำรวจเนื้อที่เพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำ พ.ศ. 2509 ถึง 2512 และ พ.ศ. 2513 ถึงพ.ศ. 2516 มาแสดงต่อศาลเอกสาร 2 ฉบับนี้ระบุว่า ที่ดินแปลงที่ 1 ซึ่งเป็นที่นาของโจทก์จดที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ ฟังได้ว่าที่นาของโจทก์ได้รับแบ่งมาดังที่พยานบุคคลของโจทก์เบิกความดังกล่าว และเอกสาร 2 ฉบับนี้ระบุด้วยว่า ที่ดินแปลงที่ 2 ของโจทก์เป็นสวนยาง พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวฟังได้ว่าที่นาและสวนยางพิพาทเป็นของโจทก์ ฝ่ายจำเลยมีนายหน๊อด นิมุสาและนายโหด หลำเบ็ญหมุด เจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ใกล้กับที่นาของจำเลยเบิกความเป็นทำนองว่าเห็นจำเลยที่ 1 ทำนาในที่นาพิพาท แต่พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่นาดังกล่าวมาอย่างไร พยานทั้งสองมิใช่เป็นบุคคลที่เคารพนับถือของชาวบ้านเหมือนอย่างพยานโจทก์ เอกสารที่จำเลยอ้างหมาย ล.1 เป็นใบรับแจ้งการสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ เอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.12 เป็นใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ เอกสารเหล่านี้ไม่มีรายละเอียดระบุถึงความกว้างยาวและเขตติดต่อเหมือนอย่างเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ของโจทก์ ไม่ระบุว่าเป็นที่ดินแปลงใดและชนิดใด รับฟังไม่ได้ว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ที่จำเลยที่ 1 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่นาพิพาทและได้รับมาตามเอกสารหมาย ล.15 และ ล.16 นั้น จำเลยที่ 1 ทำในระหว่างที่โจทก์ไม่อยู่ โดยโจทก์ไปทำสวนมะพร้าวที่จังหวัดสตูล น่าเชื่อว่าโจทก์ไม่ทราบถึงการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 นายเจ๊ะหมาดผู้ใหญ่บ้านเบิกความว่าลงชื่อรับรองการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยที่ 1 โดยเข้าใจผิดคิดว่าจำเลยที่ 1 ขอทำเฉพาะที่นาส่วนของจำเลยที่ 1 เนื่องจากพยานไม่ได้ไปดูการรังวัดเพียงแต่ไปลงชื่อ ณ ที่ว่าการอำเภอ ศาลฎีกาเห็นว่าที่นาของโจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่ติดกัน พยานอาจจะเข้าใจผิดดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 1 ขอรังวัดเอาที่นาพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าที่นาพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และการที่จำเลยที่ 1 เข้าทำนาเมื่อปี พ.ศ. 2522 จำเลยที่ 2 เข้ากรีดยางในสวนยางพิพาทตามที่จำเลยฎีกานั้น น่าเชื่อว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยเข้าทำนาและกรีดยางในระหว่างที่โจทก์ไปทำสวนมะพร้าวที่จังหวัดสตูลในฐานะที่เป็นญาติพี่น้องกัน จำเลยทั้งสองเข้าไปครอบครองที่นาและสวนยางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ มิใช่เป็นการครอบครองเพื่อตนเองจำเลยจะยกเอาเหตุดังกล่าวมายันโจทก์เพื่อแย่งสิทธิครอบครอง (จำเลยใช้คำว่าอายุความ) หาได้ไม่

จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า ที่พิพาทเป็นสินสมรส โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากภรรยา ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า สินสมรสเป็นสินบริคณห์ตามมาตรา 1462 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม โจทก์ย่อมมีสิทธิจัดการสินบริคณห์รวมทั้งฟ้องคดีด้วย ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พุทธศักราช 2519 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภรรยา’

พิพากษายืน

Share