คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3469/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 13 ศาลมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ต้องเป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลย มิใช่รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อนำมาวินิจฉัยความผิดของจำเลยตามฟ้อง ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษเฉพาะผู้ประกอบกิจการไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้าง ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการที่ต้องไปขออนุญาตจากนายทะเบียนดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันเป็นกรณีไม่แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จึงชอบที่ศาลจะแจ้งรายงานดังกล่าวให้โจทก์และจำเลยทราบแล้วสอบข้อเท็จจริงจากจำเลย รวมทั้งอธิบายฟ้องและสอบคำให้การจำเลยในข้อหานี้ใหม่ หากจำเลยยืนยันว่าเป็นลูกจ้างโจทก์ก็มีสิทธิขอนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมหรือศาลจะสั่งให้โจทก์นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในข้อหานี้เพื่อให้ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อนหรือไม่ก็ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 และมาตรา 228 แต่หากจำเลยขอถอนการให้ถ้อยคำในส่วนของการเป็นลูกจ้างและยืนยันให้การรับสารภาพ ศาลจึงรับฟังข้อเท็จจริงยุติตามฟ้องโจทก์ได้ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้สอบโจทก์และจำเลยถึงข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าว กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์จะนำสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในความผิดข้อหานี้หรือไม่ จึงยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในความผิดนี้ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสอบข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นลูกจ้างหรือผู้ประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สอบคำให้การจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าว และสอบโจทก์เกี่ยวกับการสืบพยานโจทก์ในข้อหาความผิดนี้แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 31, 61, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 3, 4, 38, 54, 79, 82, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สั่งให้ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ปรับ 66,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 33,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้อง 159 แผ่น ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38, 54, 79, 82
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงจากการรายงานสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นชอบหรือไม่… เห็นว่าการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก็เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น แม้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตามแต่ก็เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องของโจทก์ไม่ได้ ฉะนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหานี้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ดีความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 นั้น บทบัญญัติมาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน” โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะได้รับโทษตามมาตรา 79 และบทบัญญัติมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน” โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะได้รับโทษตามมาตรา 82 เห็นได้ชัดว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษเฉพาะผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งทำเป็นธุรกิจหรือได้ร้บประโยชน์ตอบแทนโดยผู้ประกอบกิจการนั้นประกอบกิจการไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน ดังนี้ แม้ในเบื้องต้นจำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้าง ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังเช่นนั้นจริง จำเลยก็ไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการที่จะต้องไปขอใบอนุญาตจากนายทะเบียนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 การกระทำของจำเลยก็จะไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551… นอกจากนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า “ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้เว้นแต่…” แสดงว่าแม้เป็นข้อหาความผิดที่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วศาลมีอำนาจพิพากษาคดีไปได้โดยมิต้องสืบพยานก็ตาม แต่หากยังไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ มิใช่ต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยเสียทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นในระหว่างพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 228 ยังให้ศาลมีอำนาจโดยพลการที่จะสืบพยานเพิ่มเติมได้ด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลย เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องแจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจให้โจทก์และจำเลยทราบแล้วสอบข้อเท็จจริงจากจำเลยอีกครั้ง รวมทั้งอธิบายคำฟ้องในข้อหานี้และสอบคำให้การจำเลยในข้อหานี้เสียใหม่ หากจำเลยยังคงยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นลูกจ้างดังเช่นที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลย ทำให้ไม่แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีสิทธิที่จะแถลงนำสืบพยานหลักฐานในส่วนนี้เพิ่มเติมได้ หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะสั่งให้โจทก์นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในข้อหานี้เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อนหรือไม่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 และ 228 ทั้งนี้เพราะศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องและจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 หากจำเลยไม่ติดใจหรือเพิกถอนการให้ถ้อยคำในส่วนของการเป็นลูกจ้างและยืนยันให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงจะรับฟังข้อเท็จจริงยุติไปตามคำฟ้องของโจทก์ได้ แต่หากจำเลยยังคงยืนยันต่อศาลว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างและโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ก็จะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และ 54 วรรคหนึ่ง ที่ประสงค์จะลงโทษเฉพาะผู้ประกอบกิจการเท่านั้น ซึ่งศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ได้ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้สอบโจทก์และจำเลยถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะพินิจจำเลยดังกล่าว และกรณียังไม่แน่ชัดว่าโจทก์จะนำสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในความผิดฐานนี้หรือไม่ เพื่อให้ได้ความกระจ่างจึงเห็นสมควรให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าหว่างประเทศกลางสอบข้อเท็จจริงและคำให้การจำเลยในความผิดฐานนี้อีกครั้ง และสอบโจทก์ว่าจะติดใจสืบพยานในประเด็นที่ว่าจำเลยเป็นลูกจ้างหรือผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์หรือไม่ เมื่อได้ความเช่นไรให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่งประเทศกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2)”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสอบข้อเท็จจริงในประเด็นว่าจำเลยเป็นลูกจ้างหรือผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์สอบคำให้การจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าว และสอบโจทก์เกี่ยวกับการสืบพยานโจทก์ในข้อหาความผิดดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share