คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1567/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำนองเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้มีหนี้ประธาน คือหนี้เงินกู้ยืมที่ลูกหนี้รับไปในวันกู้ยืม ส่วนจำนองเป็นแต่เพียงอุปกรณ์แห่งหนี้เงินกู้ยืมซึ่งเป็นหนี้คนละส่วนที่แยกออกจากกันได้ เมื่อเจ้าหนี้ตกลงให้กู้และมอบเงินกู้ให้ลูกหนี้รับไป การกู้ยืมก็เกิดขึ้น เจ้าหนี้จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ หลังจากนั้นลูกหนี้ได้มอบอำนาจให้ ช. ไปทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนอง สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 714 การจำนองที่ดินพิพาทจึงมีผลบังคับนับแต่วันที่มีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองกัน คือวันที่ 31 มกราคม 2527เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ขอให้ล้มละลาย ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2527การที่ลูกหนี้มอบอำนาจให้ ช. จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่เจ้าหนี้ จึงเป็นการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย และการที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ 134 ราย รวมเป็นเงินประมาณ99,000,000 บาท แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 711,227.45 บาท ลูกหนี้จึงมีหนี้สินรวมกันมากกว่าจำนวนทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่หลายเท่าตัว ลูกหนี้ได้จำนองที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันเงินกู้แก่เจ้าหนี้เป็นจำนวน500,000 บาท ก่อนที่ลูกหนี้จะถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเพียง 13 วันโดยไม่ปรากฏว่ากิจการของลูกหนี้กำลังรุ่งเรือง พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าลูกหนี้กระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ดังนี้ศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการจำนองได้ตามพ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 115.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่13 กุมภาพันธ์ 2527 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2527 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทรวม 15 โฉนดจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าวไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้แก่นายวีรพจน์ สุจริตธรรมกุล โดยจำเลยมอบอำนาจให้นายชัยณรงค์ วัชระโชติพิมาย ทำการจดทะเบียนจำนองแทน และได้จดทะเบียนจำนองในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้นายวีรพจน์ ผู้รับจำนองได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115
นายวีรพจน์ ผู้คัดค้าน คัดค้านว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินและมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านตั้งแต่เดือนตุลาคม 2526โดยจำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วแต่วันกู้ยืมเงิน แต่เพิ่งมาจดทะเบียนจำนองกันปลายเดือนมกราคม 2527 เหตุที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนองในขณะที่กู้ยืมเงิน เพราะจำเลยซึ่งเป็นหญิงหม้ายไม่ได้นำหนังสือสำคัญการจดทะเบียนหย่าไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา จึงจดทะเบียนในเดือนตุลาคม 2526 ไม่ได้ จำเลยได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำการจดทะเบียนจำนองซึ่งผูกพันทรัพย์สินของจำเลยก่อนระยะเวลาสามเดือนเมื่อนับถึงวันที่มีการขอให้ล้มละลาย และในขณะที่กระทำหรือยินยอมให้กระทำนั้นจำเลยไม่ได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นเพราะจำเลยคงไม่อาจคาดหมายได้ว่าตนจะถูกขอให้ล้มละลายและกิจการของจำเลยก็กำลังรุ่งเรือง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 มีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินทั้ง 15 โฉนด ตามคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 13กุมภาพันธ์ 2527 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2527 และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2527จำเลยได้มอบอำนาจให้นายชัยณรงค์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท…รวม 15 โฉนดไว้เป็นประกันเงินกู้แก่ผู้คัดค้านเป็นจำนวนเงิน500,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.20 และ ร.21เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 134 ราย รวมเป็นเงินประมาณ 99,000,000 บาทแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยนับถึงวันที่28 กุมภาพันธ์ 2529 ได้เป็นเงิน 711,227.45 บาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ที่จำเลยมอบอำนาจให้นายชัยณรงค์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้แก่ผู้คัดค้านนั้นเป็นการกระทำใด ๆ ซึ่งจำเลยได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นหรือไม่ ข้อนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ ตามคำให้การของผู้คัดค้านคำให้การของนายชัยณรงค์ คำให้การของนายมนูญ คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามสำเนาคำให้การและความเห็นเอกสารหมาย ร.1ถึง ร.4 และ ร.23 ประกอบกับที่ผู้คัดค้านได้นำสืบมาได้ความว่าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 จำเลยขอกู้ยืมเงินจากผู้คัดค้าน500,000 บาท โดยจะจำนองที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันแก่ผู้คัดค้านจำเลยได้รับเงินกู้จากผู้คัดค้านไป 500,000 บาท เมื่อพากันไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท 15 โฉนด ปรากฏว่าจำเลยเป็นหญิงหม้ายมิได้เตรียมหนังสือสำคัญการหย่าไปแสดงจึงไม่อาจจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทได้ ต่อมาจำเลยจึงมอบอำนาจให้นายชัยณรงค์ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแทนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2527 เห็นว่าการจำนองนั้นเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้จึงมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานส่วนหนึ่ง คือหนี้เงินกู้ยืมที่ผู้คัดค้านจ่ายให้จำเลยรับไปในวันที่ 1 พฤศจิกายน2526 ก่อนทำสัญญาและจดทะเบียนจำนอง ส่วนการจำนองที่จำเลยได้มอบอำนาจให้นายชัยณรงค์ไปทำสัญญาและจดทะเบียนให้แก่ผู้คัดค้านนั้น เป็นแต่เพียงอุปกรณ์แห่งหนี้เงินกู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานซึ่งเป็นหนี้คนละส่วนที่แยกออกจากกันได้ ดังนั้น การที่จำเลยขอกู้ยืมเงินจากผู้คัดค้าน 500,000 บาท และผู้คัดค้านก็ตกลงยินยอมให้กู้เมื่อผู้คัดค้านได้มอบเงินที่กู้ 500,000 บาท ให้จำเลยรับไปการกู้ยืมก็ได้เกิดขึ้น ผู้คัดค้านจึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยในทันทีนั้นเอง หลังจากนั้นการที่จำเลยได้มอบอำนาจให้นายชัยณรงค์ไปทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยจำนองที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันเงินกู้แก่ผู้คัดค้านนั้น จำเลยได้กระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นหรือไม่… สัญญาจำนองนั้นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 714 การจำนองที่ดินดังกล่าวจึงมีผลบังคับนับแต่วันที่มีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองกันคือวันที่ 31 มกราคม 2527โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2527 การที่จำเลยมอบอำนาจให้นายชัยณรงค์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ผู้คัดค้าน จึงเป็นการกระทำใด ๆ ที่จำเลยกระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 …การที่จำเลยเป็นหนี้เจ้าหนี้ถึง 134 ราย รวมเป็นเงินประมาณ 99,000,000 บาทแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยได้เพียง711,227.45 บาท จำเลยมีหนี้สินรวมกันมากกว่าจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่หลายเท่าตัว จำเลยจำนองที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันเงินกู้แก่ผู้คัดค้านเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท ก่อนที่จำเลยจะถูกโจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลายเพียง 13 วัน ทั้งผู้คัดค้านก็มิได้นำสืบว่ากิจการของจำเลยกำลังรุ่งเรืองแต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมาแสดงว่า จำเลยกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เมื่อจำเลยจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการจำนองนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115…”
พิพากษายืน.

Share