แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความทำกันในศาลเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2516 ความว่า จำเลยยอมชำระหนี้ให้โจทก์ภายใน 15 เดือนนับแต่วันทำสัญญา โดยให้นับ 30 วันเป็นหนึ่งเดือน ถ้าผิดนัด จำเลยยอมให้ทรัพย์จำนองหลุดและถือว่าหมดหนี้ต่อกัน ดังนี้ เมื่อจำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ในวันที่ 21 ตุลาคม 2517 จึงถือว่าจำเลยผิดนัดจำเลยต้องยอมให้ทรัพย์จำนองหลุดเป็นสิทธิแก่โจกท์ และถือว่าหมดหนี้ต่อกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ข้อตกลงให้นับ 30 วันเป็นหนึ่งเดือนย่อมบังคับกันได้ ไม่ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ก็บัญญัติให้นับระยะเวลาตามวิธีการที่กำหนดไว้ในนิติกรรมได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้และเรียกเอาทรัพย์จำนองเพื่อประกันการกู้ยืมเงินหลุด โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๖ จำเลยยอมชำระหนี้ให้โจทก์ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ภายใน ๑๕ เดือนนับแต่วันทำสัญญาดังกล่าว โดยหนึ่งเดือนให้นับ ๓๐ วัน ถ้าผิดนัดจำเลยยอมให้ทรัพย์จำนองหลุดและถือว่าหมดหนี้ต่อกัน วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๗ จำเลยนำเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาทมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ไม่ยินยอมและขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยผิดนัดสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๖ จึงให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว คืนเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑ ว่า “จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ภายในระยะเวลา ๑๕ เดือนนับแต่วันนี้ (หนึ่งเดือนให้นับ ๓๐วัน)” สัญญาประนีประนอมยอมความทำกันในศาลเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๖ วันครบกำหนดระยะเวลา ๑๕ เดือนจึงเป็นวันที่ ๑๖ หรือ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจำต้องชำระหนี้ให้โจทก์ การที่จำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๗ อันเป็นวันพ้นกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ได้ชื่อว่าจำเลยผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยต้องยอมให้ทรัพย์จำนองหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ และถือว่าหมดหนี้ต่อกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ข้อตกลงนี้คู่ความตกลงกันได้ ไม่ถือว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖ ก็บัญญัติยกเว้นไว้ให้นับระยะเวลาตามวิธีการที่กำหนดไว้ในนิติกรรมไว้นิติกรรมได้ วิธีการนับระยะเวลาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับจำเลยไม่ได้
พิพากษายืน
(เดช วุฒิสิงห์ชัย ถนอม ครูไพศาล แถม ดุลยสุข)