คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1566/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่ารักษาทรัพย์ (ที่ยึดไว้ในคดี) เป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งศาลอาจจะพิจารณาสั่งให้ได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่ารักษาทรัพย์ให้ผู้ร้องต่ำกว่าจำนวนที่ระบุในหนังสือสัญญารักษาทรัพย์จึงเป็นอำนาจที่จะกระทำได้ หาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่เมื่อค่ารักษาทรัพย์เป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ศาลอาจสั่งให้ได้ การที่ผู้ร้องไม่พอใจคำสั่งกำหนดค่ารักษาทรัพย์ของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ต่อมาก็เป็นการฟ้องคดีต่อศาลอุทธรณ์ ให้กำหนดค่ารักษาทรัพย์เช่นเดียวกัน หาใช่เรื่องเรียกร้องค่ารักษาทรัพย์ไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำยึดที่ดินและเรือนของจำเลยที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ในการยึดนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีโดยความเห็นชอบของโจทก์ได้มอบทรัพย์ดังกล่าวให้ผู้ร้องและนายวิรัติ ไชยา เป็นผู้รักษาทรัพย์ คิดค่ารักษาทรัพย์ให้วันละ 100 บาท ปรากฏตามหนังสือสัญญารักษาทรัพย์ลงวันที่ 23 มีนาคม 2520 ผู้ร้องและนายวิรัติ ไชยา ทำการรักษาทรัพย์ตั้งแต่วันทำสัญญา

ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2522 โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยติดต่อขอผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ อยู่ในระหว่างตกลงกัน ซึ่งจะต้องใช้เวลานานทำให้ค่ารักษาทรัพย์สูงมากโจทก์จึงขอเป็นผู้รักษาทรัพย์เอง โดยให้นายไพจิตร โกศัลวิตร ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาอุบลราชธานีเป็นผู้รักษา โดยไม่คิดค่ารักษา ส่วนค่ารักษาทรัพย์ก่อนนั้นจำเลยจะเป็นผู้ชำระให้ผู้ร้องกับนายวิรัติ ไชยา เอง และจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำแถลงว่าค่ารักษาทรัพย์ที่จำเลยจะต้องจ่ายสูงมาก ขอให้ศาลพิพากษาลดจำนวนลง

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เปลี่ยนผู้รักษาทรัพย์ได้ ส่วนเรื่องค่ารักษาทรัพย์ของผู้ร้องและนายวิรัติ ไชยา เห็นว่าจำเลยและครอบครัพักอาศัยอยู่ในทรัพย์ที่ถูกยึดตลอดมาและมีส่วนช่วยเหลือในการดูแลรักษาทรัพย์ด้วย เป็นการแบ่งเบาภาระรักษาทรัพย์ของผู้รักษาทรัพย์คงมีคำสั่งกำหนดค่ารักษาทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องและนายวิรัติ ไชยาผู้รักษาทรัพย์ทั้งสอง เป็นเงิน 15,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวน15,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นและนายวิรัติ ไชยา ได้รับค่ารักษาทรัพย์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 7,500 บาทไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องและนายวิรัติ ไชยา ทำการรักษาทรัพย์มา 905 วันเป็นค่ารักษาทรัพย์ตามสัญญาเป็นเงิน 90,500 บาท เป็นส่วนของผู้ร้อง 45,250 บาทโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาจะต้องจ่ายค่ารักษาทรัพย์ตามข้อตกลงในสัญญา ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์จ่ายค่ารักษาทรัพย์เป็นเงิน 45,250 บาท หรือจ่ายในอัตราค่าแรงขั้นต่ำคือวันละ 35 บาท เป็นเงิน 32,675 บาท

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีของผู้ร้องในชั้นอุทธรณ์เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียง 200 บาท ขาดไป จึงให้ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องเสียให้ครบก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นได้เรียกค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องเพิ่มอีก 557.50 บาท ผู้ร้องชำระครบถ้วนแล้ว

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่ารักษาทรัพย์เป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งศาลอาจพิจารณาสั่งให้ได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดค่ารักษาทรัพย์ให้ผู้ร้องต่ำกว่าจำนวนที่ระบุในหนังสือสัญญารักษาทรัพย์จึงเป็นอำนาจที่จะกระทำได้ หาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่เมื่อค่ารักษาทรัพย์เป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ศาลอาจสั่งให้ได้ การที่ผู้ร้องไม่พอใจคำสั่งกำหนดค่ารักษาทรัพย์ของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ต่อมา ก็เป็นการฟ้องคดีต่อศาลอุทธรณ์ให้กำหนดค่ารักษาทรัพย์เช่นเดียวกัน หาใช่เรื่องเรียกร้องค่ารักษาทรัพย์ไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มา 200 บาทชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มมาอีก โดยถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ต้องคืนค่าขึ้นศาลที่ผู้ร้องชำระเพิ่มรวมทั้งค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ผู้ร้องเสียเกินมาอีกแก่ผู้ร้องไป

พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาศาลละ200 บาทแก่ผู้ร้อง

Share