คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1565/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่านายจ้าง ลูกจ้าง ตามความหมายของกฎหมายแรงงาน หมายรวมถึงบุคคลบุคลลผู้เข้าทำงานให้แก่บุคคลอื่นในงานอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม โดยได้ได้รับค่าจ้างเป็นผลประโยชน์ตอบแทนทั่วไป หากลูกจ้างประเภทใดที่ไม่ต้องการให้อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงานก็กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ อันมีข้าราชการส่วนท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย แม้ฐานะของโจทก์จะเรียกว่า พนักงานมิได้เรียกลูกจ้างโดยตรง ก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้าง ของจำเลย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้รับความคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 3 แก้ไขฉบับที่ 3 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2507่ข้อ 2 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำการอันต้องด้วยข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว จำเลยก็ต้องจ่าย เงินชดเชยค่าโจทก์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยข้างต้น ข้อ 12
เงินชดเชยเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับตามกฎหมาย มิใช่เป็นเป็นสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทดนหรือค่าเสียหายฐานละเมิด และกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความตามหลักทั่ว ไปที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องขึ้นได้
เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ ตามข้อบังคับว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงานและคนงานของจำเลย ที่พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 42 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้น โดยนำเงินสะสมที่หักไว้จากเงินเดือนของโจทก์ทุกเดือน กับเงินของจำเลยอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงินสมทบจ่าย มีหลักเกณฑ์ และวิธีการแตกต่างกันไปจากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินสงเคราะห์จึงเข้าลักษณะเป็นเงินประเภทอื่นต่างหากจากเงินชดเชย ดังกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 2 ดังกล่าว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นพนักงานประจำของจำเลย ได้รับอุบัติเหตุนอกเวลาและสถานที่ทำงานถึงทุพพลภาพ แขนขวา ถูกตัดถึงข้อศอก จำเลยได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกมาจากการเป็นพนักงาน อ้างว่า โจทก์พิการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ขอให้จ่ายค่าชดเชย
จำเลยให้การว่า ฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้จ่ายเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับในการถูกปลดออกตามระเบียบแล้วจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ ให้ โจทก์อีก ฟ้องโจทก์ ขาดอายุความ
วันนัดพร้อม จำเลยแถลงว่าได้จ่ายเงินสะสม เงินกองทุน ดอกเบี้ยเงินกองทุนให้โจทก์รับไปแล้ว เป็นจำนวนมากกว่าเงินชดเชยซึ่งจะต้องจ่าย และต่อสู้ว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ไม่อยู่ในบังคับประกาศของคณะปฎิวัติ เรื่องคุ้มครองแรงงาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ว่า ฟ้องโจทก์ ไม่เคลือบคลุม คดีไม่ขาดอายุความจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จึงอยู่ในบังคับประกาศของคณะปฏิวัติเรื่องคุ้มครองแรงงาน และเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์รับไปแล้ว ตามที่คู่ความแถลงไม่ใช่เงินชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกา แผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ต่อมาโจทก์ประสบอุบัติเหตนอกเวลาและสถานที่ทำงาน กลายเป็นคนพิการแขนขวาต้องถูกตัดออกถึงข้อศอก ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จำเลยจึงปลดโจทก์ออกจากพนักงานเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๑๔ ดังนี้ การพิจารณาปัญหาดังกล่าวจึงต้องอาศัยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ และประกาศกระทรวงมหาดไทย ที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตาม ประกาศคณะปฏิวัติฉบับข้างต้น อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น คำว่านายจ้างลูกจ้างตามความหมายของกฎหมายแรงงานมีความหมายกว้างขวางไม่เฉพาะนายจ้าง ลูกจ้าง ที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ บัญญัติไว้เท่านั้น หากหมายรวมถึงบุคคลผู้เข้าทำงานให้แก่บุคคลอื่นในงานอุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรมโดยได้รับค่าจ้างเป็นผลประโยชน์ตอบแทนทั่วไป หากลูกจ้างประเภทใดที่ไม่ต้องการให้อยู่ในบังคับและข้าราชการส่วนท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย ซึ่งข้าราชการทั้งสองประเภทนี้ต่างเข้าทำงานกับมีนิติสัมพันธ์ กับกระทรวง ทบวงกรมเจ้าสังกัด โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยข้าราชการประเภทนั้น ๆ ทำนองเดียวกับพนักงานของจำเลยซึ่งมิได้เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานทั้งสิ้น หากจะถือว่าสภาพการเป็นนายจ้างลูกจ้างมีได้แต่เฉพาะสัญญาจ้างแรงงานแล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทยก็หาจำเป็นยกเว้นบุคคลผู้เป็นข้าราชการข้าราชการส่วนท้องถิ่นไว้ไม่ จึงเห็นว่า แม้ฐานะของโจทก์จะเรียกว่า พนักงานมิได้เรียกลูกจ้างโดยตรง ก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้รับความคุ้มครองของกฎหมายแรงงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๓ แก้ไขฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๐๓ ข้อ ๒ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำการอันต้องด้วยข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว จำเลยก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่โจทก์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้างต้น ข้อ ๒๗ ซึ่งแก้ไขตามฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๐๗ ข้อ ๑๒
เงินชดเชยเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับตามกฎหมายมิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายฐานละเมิด และกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความตามหลักทั่วไปที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ คือมีกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องขึ้นได้ ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๑๔ คิดนับมาถึงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๒๓ อันเป็นวันที่โจทก์ฟ้องยังไม่ถึง ๑๐ ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
การที่จำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์รับไปแล้ว เป็นเงินสะสม จำนวน ๓,๒๓๐.๙๐ บาทเงินกองทุน ๑ จำนวน ๖,๔๖๑.๘๐ บาท ดอกเบี้ยเงินกองทุน ๑ จำนวน ๓๙๗.๗๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๐,๐๙๐.๔๐ บาท ตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พนักงานและคนงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น เงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายตามข้อบังคับว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงานและคนงานของจำเลยที่ พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๔๒ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้น โดยนำเงินสะสมที่หักไว้จากเงินเดือนของโจทก์ทุกเดือน กับเงินของจำเลยอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงินสมทบจ่าย ซึ่งมีหลักเกณฑ์และวิธีการแตกต่างกันไปจากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ฉะนั้นเงินสงเคราะห์จึงเข้าลักษณะเป็นเงินประเภทอื่นต่างหากจากเงินชดเชยดังกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๐๗ ข้อ ๒ เมื่อไม่เป็นเงินชดเชยแล้วจึงไม่ต้องพิจารณาว่า เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์นั้นมากกว่า จำนวนเงินชดเชยที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามที่ยกเว้นไว้ในข้อ ๒๗ แห่งประกาศกระทรวงหมาดไทย ข้างต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยมาเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน เมื่อวันเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ โจทก์ตามฟ้อง
ส่วนค่าเบี้ยเลี้ยง วันทำงาน ตามคำฟ้อง ของโจทก์กล่าวว่านอกเหนือฯจากเงินเดือนแล้วโจทก์ยังได้รับเบี้ยเลี้ยงในวันมาทำงานอีกละวัน ๑๕ บาท จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น แม้ในวันนัดพร้อมก็มิได้กล่าวถึงเงินประเภทนี้ กรณีจึงต้องฟังตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเงินเบี้ย เลี้ยงดังกล่าว เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เป็นการตอบแทนการทำงานของลูกจ้างไม่ว่าสินจ้างนั้นจะเรียกชื่อกำหนด คำนวณหรือจ่ายอย่างไร ก็ให้ถือเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ที่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินชดเชยด้วย
พิพากษา

Share