คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามกับ จ. ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเข้าหุ้นส่วนเดิมโดยให้จำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการ และถอนเงินลงหุ้นออกไปโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน ให้จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีหนี้สินและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ 1ต้องการเลิกห้างหุ้นส่วน แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องการดำเนินกิจการต่อ จำเลยที่ 1 กับ จ. กับ จ. จึงถอนหุ้นออกจากการเป็นหุ้นส่วนโดยไม่มีการถอนเงินลงหุ้นไปจริงเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ไม่มีเงินเหลืออยู่เลย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ถอนหุ้นจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11/2530 ให้จำเลยที่ 1 ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 695 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองแก๋วอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์โดยปลอดภาระติดพันใด ๆ มิฉะนั้นให้คืนเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์ และใช้ค่าปรับจำนวน 100,000 บาท พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 20,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 1 ได้แกล้งยอมตนออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ ให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนประเภทจากหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและให้จำเลยที่ 3 เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามกระทำการโดยเจตนาที่จะโกงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 มิให้โจทก์สามารถบังคับคดียึดหุ้นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเอาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพราะนอกจากหุ้นของจำเลยที่ 1ในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะอาจบังคับเอาได้ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 695 ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดงจังหวัดเชียงใหม่ ก็ติดจำนองเป็นประกันหนี้บุคคลอื่น หลังจากที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาหุ้นส่วนแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังคงดำเนินงานต่าง ๆ ในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ แต่เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้เกี่ยวข้องทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้เถียงกันเป็นอย่างอื่นฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดอยู่ด้วยโดยได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ณสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่27 กันยายน 2527 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22/2530 ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2530เรื่องซื้อขาย โดยศาลจังหวัดเชียงใหม่ พิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 695หมู่ที่ 8 ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยปลอดจากภาระติดพันใด ๆ หากจำเลยที่ 1 ไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่โจทก์ ไม่ว่าด้วยเหตุใดให้จำเลยคืนเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินค่าปรับจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมทั้งใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ20,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวติดจำนองไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย สาขาสันป่าตอง เป็นการประกันหนี้ของนางวิลาวรรณภรรยาจำเลยที่ 1 หลังจากศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาคดีแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาหย่ากับภรรยาและได้ไปจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2530 ปรากฏตามหนังสือสัญญาหย่าเอกสารหมาย จ.8 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของนางวิลาวรรณ 3 แปลง อ้างว่าเป็นสินสมรสนางวิลาวรรณร้องขัดทรัพย์จำนวน 1 แปลง วันที่ 11 กุมภาพันธ์2530 จำเลยทั้งสามกับนายเจริญ พรมสวัสดิ์ได้ทำสัญญาตกลงกันให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อสัญญาเข้าหุ้นส่วนเดิมตามที่ได้จดทะเบียนไว้โดยให้จำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดโดยถอนเงินลงหุ้นจำนวน 1,500,000 บาท ออกจากการเป็นหุ้นส่วนให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนจากหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและนำเงินมาลงหุ้นเพิ่มอีกจาก 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท โดยให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ 1 ให้นายเจริญ พรมสวัสดิ์ ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด โดยถอนเงินลงหุ้นจำนวน200,000 บาท ออกจากการเป็นหุ้นส่วน และให้รับจำเลยที่ 3เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดโดยนำเงินมาลงหุ้นจำนวน200,000 บาท และได้นำไปจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 และ หมาย จ.3 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ดังโจทก์ฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเมื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดีแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ” การกระทำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดคือการที่จำเลยที่ 1 แกล้งยอมตนออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ จำเลยที่ 2 เปลี่ยนประเภทจากหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและให้จำเลยที่ 3 เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ไม่สามารถยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเอาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพราะนอกจากหุ้นของจำเลยที่ 1 ในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์แล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะบังคับเอาได้แต่โจทก์เบิกความว่า ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2529 ห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ มีบัญชีเงินฝากเป็นศูนย์ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ถอนหุ้นออกมา เงินของจำเลยที่ 1 ในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ก็ไม่มีให้โจทก์ยึด จึงเจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1ที่ว่าหลังจากศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์และอยู่ระหว่างการบังคับคดี ห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ มีหนี้สินและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้จำเลยที่ 1 ต้องการเลิกห้างหุ้นส่วนดังกล่าวแต่จำเลยที่ 2 จะดำเนินกิจการต่อไป และจำเลยที่ 2 ได้ชักชวนจำเลยที่ 3 มาเข้าเป็นหุ้นส่วนด้วย โดยมีการลงหุ้นกันใหม่ และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเองส่วนจำเลยที่ 1 กับนายเจริญ พรมสวัสดิ์ ได้ถอนหุ้นออกจากการเป็นหุ้นส่วนไปโดยไม่มีการถอนเงินลงหุ้นไปจริง เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ไม่มีเงินเหลืออยู่เลย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุผล และมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ถอนหุ้นจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่เป็นการถอนหุ้นเพื่อต้องการจะเลิกห้างหุ้นส่วนดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต้องการดำเนินกิจการต่อจึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อสัญญาเข้าหุ้นส่วนเดิมการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share