คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว แต่ใส่ชื่อบุคคลอื่นถือสิทธิในที่ดินแทนที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109(1)เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบที่จะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินมิให้จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ใดจนกว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้โดยไม่จำต้องทำการเพิกถอนการโอนก่อน หากผู้มีชื่อถือสิทธิในที่ดินแทนผู้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ทำการโอนที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ต้องถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำของผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 22,24แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ การโอนย่อมตกเป็นโมฆะและใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกชั่วคราว ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2924-2996-3001ไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ที่ดินตามที่อายัดเฉพาะตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2924-2977,2988-2994 และ 2996-3001 รวม 67 แปลง ผู้ร้องซื้อมาจากนางสุมลหรือพรพิมล ซึ่งเป็นเจ้าของโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ไม่ใช่ทรัพย์สินในคดีล้มละลายที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะยึดหรืออายัดได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109 ขอให้มีคำสั่งกลับหรือยกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือมีคำสั่งอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินตามคำร้องทั้งหมด จำเลยที่ 3ซื้อมา แต่ใส่ชื่อนางสุมลไว้แทน ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย การที่ผู้ร้องรับโอนที่ดินพิพาทไปหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 3 ชั่วคราวแล้ว เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ตกเป็นโมฆะและใช้ยันผู้คัดค้านไม่ได้ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดที่ดินพิพาททั้ง 67 แปลง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกไว้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2529เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2532 และวันที่ 16 มีนาคม 2533 นางสุมลหรือพรพิมล เหลืองประเสริฐ ได้โอนที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 2924-2977, 2988-2994 และ 2996-3001 ตำบลหนองล่องอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน รวม 67 แปลง แก่ผู้ร้อง ต่อมาผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินที่ผู้ร้องรับโอนดังกล่าวตามหนังสือลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 และหนังสือลงวันที่ 10 สิงหาคม2533 ไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาป่าซาง คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้คัดค้านมีอำนาจอายัดที่ดินทั้ง 67 แปลงดังกล่าวหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว จำเลยคดีนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2529 ฉะนั้นนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปกฎหมายบัญญัติห้ามจำเลยผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งศาล หรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่จำเลยหรือซึ่งจำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 24, 22(2) กรณีที่เป็นปัญหาคดีนี้เมื่อผู้คัดค้านสอบสวนแล้ว เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 3แต่ใส่ชื่อบุคคลอื่นถือสิทธิในที่ดินแทน ซึ่งหากเป็นความจริงต้องถือว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายคดีนี้อันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109(1)ผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจรวบรวมที่ดินดังกล่าวไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ การที่ผู้คัดค้านมีหนังสือตามเอกสารหมาย ค.8 และ ค.10 แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินมิให้จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ใดจนกว่าผู้คัดค้านจะแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นวิธีการรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลายของผู้คัดค้านวิธีหนึ่งตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้หากผู้คัดค้านไม่อาจกระทำการดังกล่าวได้ การรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์จะเกิดการขัดข้องและเกิดปัญหาติดตามมาในเมื่อมีการโอนทรัพย์สินนั้นต่อไปหลายทอด ศาลฎีกาเห็นสมควรกล่าวไว้ด้วยว่า การที่ผู้มีชื่อถือสิทธิในที่ดินแทนผู้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หากทำการโอนที่ดินที่ถือแทนไปยังบุคคลอื่นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ต้องถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำของผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 22, 24แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 การโอนย่อมตกเป็นโมฆะและใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ ฉะนั้นในชั้นนี้ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งอายัดที่ดินพิพาททั้ง 67 แปลงของผู้คัดค้าน ปัญหาอื่นนอกจากนี้ไม่ต้องวินิจฉัย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share