คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15572/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ แม้จำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์หาเงินมาชำระค่าขึ้นศาล เป็นการทิ้งฟ้องและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และฟ้องบังคับให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แม้ไม่ได้ทำหนังสือตั้งให้เป็นตัวแทนก็ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง
โจทก์สืบพยานบุคคลว่าผู้มีชื่อในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและในโฉนดเป็นตัวแทนของโจทก์นั้น หาได้สืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือตามความหมายใน ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) นั้นไม่ แต่เป็นการสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงหาใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดเลขที่ 12410 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาจตุจักร และชำระเงิน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12410 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยชำระเงิน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 มีนาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 12410 ที่พิพาทไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาจตุจักร หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเฉพาะกรณีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์อื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12410 กรุงเทพมหานคร จากนายดุสิต และนางสาวกันยาศิริ ในราคา 12,000,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 นายดุสิตและนางสาวกันยาศิริจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามสำเนาโฉนดที่ดิน โจทก์เคยฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ต่อศาลชั้นต้นและศาลนัดพร้อมในวันที่ 28 มกราคม 2553 เพื่อให้โจทก์นำเงินมาชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วแต่ไม่มาศาลในวันนัด ศาลบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งของศาลชั้นต้นหรือไม่ ในปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกเรื่องฟ้องซ้ำเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในปัญหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์หาเงินมาชำระค่าขึ้นศาล เป็นการทิ้งฟ้องและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนางสาวกันยาศิริ เจ้าของที่ดินพิพาทเดิมเป็นพยาน โดยโจทก์อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานได้ความว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากนายดุสิตและนางสาวกันยาศิริในราคา 12,000,000 บาท ชำระราคาที่ดินไปแล้วบางส่วน คงเหลือ 5,800,000 บาท และยังจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 13848 ของโจทก์เป็นประกันหนี้เงินกู้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 6,200,000 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยทราบว่าโจทก์ค้างชำระค่าที่ดินพิพาท จึงเสนอให้โจทก์กู้ยืมเงินจำนวน 6,000,000 บาท เป็นค่าที่ดินพิพาทและจะให้กู้ยืมเงินอีก 24,000,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยเพื่อลงทุนในที่ดินพิพาท นอกจากนี้จำเลยยังเสนอให้กู้ยืมเงินจำนวน 11,600,000 บาท โดยให้โจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 13848 ซึ่งติดจำนองธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาประกันเงินกู้ยืมดังกล่าว กับให้นัดเจ้าของที่ดินมาโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 13848 เพื่อนำมาจำนองกับจำเลยในวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาจตุจักร เมื่อถึงวันนัด โจทก์ จำเลย เจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายดุสิต นางสาวกันยาศิริกับพวกมาที่สำนักงานที่ดินดังกล่าว จำเลยได้มอบแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับ ฉบับแรกจำนวนเงิน 6,083,500 บาท ให้โจทก์นำไปไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 13848 จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แล้วนำมาจดทะเบียนจำนองกับจำเลยในวงเงิน 11,600,000 บาท ส่วนฉบับที่สองจำนวนเงิน 5,000,000 บาท ให้โจทก์ไปชำระค่าที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือแก่นายดุสิตและนางสาวกันยาศิริ สำหรับที่ดินพิพาทจำเลยให้โจทก์โอนใส่ชื่อจำเลยเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการโอนและจะมอบเงินให้ในภายหลัง แต่โจทก์ไม่เคยได้รับเงินที่จำเลยจะให้กู้ยืมเงินจำนวน 6,000,000 บาท และเงินสำหรับลงทุนอีก 24,000,000 บาทดังกล่าว เหตุที่โจทก์ยอมโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เนื่องจากหากนายดุสิตและนางสาวกันยาศิริโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์และโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับจำเลยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมหลายต่อ ทั้งโจทก์เชื่อใจและไว้วางใจจำเลยว่าจะไม่โกง โจทก์จึงยอมให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน และนางสาวกันยาศิริก็เบิกความยืนยันว่า พยานไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับโจทก์ แต่ภายหลังพบว่าเป็นการทำสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างพยานกับจำเลย พยานได้ทักท้วง พยานจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่โจทก์ยืนยันขอให้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลย เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ให้โจทก์กู้ยืมเงินมาซื้อที่ดินพิพาทและจะให้กู้ยืมเงินอีก 20,000,000 บาท พยานจึงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทในราคา 5,700,000 บาท โดยจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 5,000,000 บาท และเงินสดอีก 700,000 บาท ซึ่งผู้ขายได้รับเงินไปแล้ว เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความเชื่อมโยงต้องกันในข้อสาระสำคัญ โดยเฉพาะนางสาวกันยาศิริไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีข้อระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย จึงเชื่อได้ว่านางสาวกันยาศิริเบิกความไปตามความจริง ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากนายดุสิตและนางสาวกันยาศิริในราคา 5,700,000 บาท นั้น เป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากนายดุสิตและนางสาวกันยาศิริในราคา 12,000,000 บาท อย่างมาก ทั้งนายดุสิตและนางสาวกันยาศิริต่างไม่รู้จักจำเลยมาก่อน เพิ่งจะมาพบกันที่สำนักงานที่ดินในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงไม่น่าเชื่อว่านายดุสิตและนางสาวกันยาศิริจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยในราคาเพียง 5,700,000 บาท เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นเมื่อโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือไปถึงจำเลยในฐานะผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ เพื่อให้มาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาท ณ สำนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานคร สาขาจตุจักร ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 เวลา 10 นาฬิกา โดยโจทก์เตรียมเงินเพื่อชำระคืนให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว ซึ่งจำเลยก็ได้รับเอกสารดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งหรือปฏิเสธความข้อนี้ ทั้งไม่ได้ไปพบโจทก์ตามนัด โจทก์จึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าโจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยคงไม่โกงโจทก์ จึงยอมให้ผู้ขายโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์เพราะหากไม่เป็นความจริงโจทก์คงไม่กล้าไปแจ้งความข้อนี้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์อ้างว่าโจทก์มอบให้จำเลยเป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้ทำหนังสือตั้งให้เป็นตัวแทนขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และฟ้องบังคับให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แม้ไม่ได้ทำหนังสือตั้งให้เป็นตัวแทนก็ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคสอง ส่วนที่จำเลยฎีกาทำนองว่า โจทก์สืบพยานบุคคลว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เป็นการนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและรายการจดทะเบียนในโฉนดที่มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) เห็นว่า การที่โจทก์สืบพยานบุคคลว่าผู้มีชื่อในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและในโฉนดเป็นตัวแทนของโจทก์นั้น หาได้สืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) นั้นไม่ แต่เป็นการสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงหาใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่ประการใด ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ และข้ออ้างอื่น ๆ ในฎีกาของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยนำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินเป็นการพิพากษาเกินคำขอเพราะโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนใหม่ได้นั้น เห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ตรงตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แล้ว หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share