คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15533/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าการบริหารองค์กรไม่ว่าบริหารภาครัฐหรือเอกชน การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง การโยกย้าย หรือการพิจารณาความดีความชอบจะต้องใช้หลักคุณธรรม และเป็นไปตามระเบียบแบบแผน เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่นั้นเป็นประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและประเทศชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และยังเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นหรือเสาหลักแห่งกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีตำรวจที่ประพฤติมิชอบ ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีข้อความตอนใดที่โจทก์ขอให้จำเลยทำให้ผู้มีอำนาจเข้าใจในตัวโจทก์ถูกต้อง กลับให้จำเลยไปพูดกับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่รู้จักกันเกี่ยวกับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์อย่างเต็มที่ โดยสัญญาแบบผู้มีความรับผิดชอบให้ได้รับตำแหน่งสูงสุด และหากโจทก์ขอความช่วยเหลือ จำเลยจะต้องให้ความสะดวกและช่วยเหลือโจทก์ได้มีตำแหน่งสูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ระเบียบแบบแผนและวิธีการของทางราชการ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยไปพูดกับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่รู้จักกันเกี่ยวกับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้เสียหายอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถโดยสัญญาแบบผู้มีความรับผิดชอบให้ได้รับตำแหน่งสูงขึ้นคือ เป็นรองผู้กำกับการและจะได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก และถ้าไปขอความช่วยเหลือก็จะให้ความสะดวกเต็มความสามารถและจะให้ความสะดวกเต็มที่
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยกับพวกเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาต่อศาลจังหวัดฝาง ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 490/2547 ตามสำเนาคำฟ้องและโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่าร่วมกันกระทำละเมิดหมิ่นประมาทโจทก์ โดยการโฆษณาต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 2222/2546 ตามสำเนาคำฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ทำความตกลงกับจำเลยในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา เพื่อยุติการดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งต่อไป บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยในข้อ 4 ของเอกสาร ซึ่งเป็นมูลที่โจทก์นำมาฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย 2,000,000 บาท มีความว่า “จำเลยรับว่าจะไปพูดกับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่รู้จักกันเกี่ยวกับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้เสียหายอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถโดยสัญญาแบบผู้มีความรับผิดชอบให้ได้รับตำแหน่งสูงขึ้นคือ เป็นรองผู้กำกับการและจะได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากและถ้าไปขอความช่วยเหลือก็จะให้ความสะดวกเต็มความสามารถ และจะให้ความสะดวกเต็มที่” ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง โดยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ความว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญาอย่างไร
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยผิดสัญญาตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าข้อตกลงข้อ 4 เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ข้อกฎหมายดังกล่าวนี้แม้จำเลยจะยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นเท่านั้น แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เห็นว่า เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าการบริหารองค์กรไม่ว่าบริหารภาครัฐหรือเอกชน การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง การโยกย้าย หรือการพิจารณาความดีความชอบจะต้องใช้หลักคุณธรรม และเป็นไปตามระเบียบแบบแผน เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่นั้นเป็นประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและประเทศชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และยังเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นหรือเสาหลักแห่งกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีตำรวจที่ประพฤติมิชอบ ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง พันตำรวจเอกนิทัศน์ รับราชการอยู่ที่กองกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ปี 2530 จนถึงขณะเบิกความปี 2551 เบิกความว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรขึ้นไป จะมีพระราชบัญญัติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และมีกฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักและวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549 ใช้ในการพิจารณาตามเอกสารของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในการเลื่อนตำแหน่งสารวัตรเป็นรองผู้กำกับการจะต้องมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งสารวัตรมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีประสบการณ์ตรงตามตำแหน่งที่จะได้รับแต่งตั้ง และตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า แม้จะดำรงตำแหน่งสารวัตรได้ไม่ถึง 5 ปี แต่ถ้าหากผู้บังคับบัญชาเห็นว่า มีความสามารถโดดเด่นเป็นพิเศษและโดยความเห็นชอบของ ก.ตร. ก็สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้ และตอบคำถามติงของจำเลยว่า ช่วงที่พยานรับราชการในตำแหน่งนี้มา 3 ปี ยังไม่มีการพิจารณาให้ผู้ที่ครองตำแหน่งสารวัตรไม่ถึง 5 ปี ขึ้นเป็นรองผู้กำกับการ เห็นว่า ขณะทำบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 นั้น โจทก์ดำรงตำแหน่งสารวัตรมาประมาณ 3 ปี ตามทางนำสืบของโจทก์เองได้ความว่า โจทก์เคยถูกไล่ออกจากราชการเป็นเวลา 3 ปี ต่อมาได้กลับเข้ารับราชการใหม่ โจทก์เคยมีปัญหากับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งมีจำเลยเป็นบรรณาธิการหลายครั้ง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า โจทก์มีคุณสมบัติยังไม่ครบที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการ และไม่ปรากฏว่ามีผลงานโดดเด่น ทั้งจำเลยก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับได้ความจากทางนำสืบโจทก์ว่า โจทก์เห็นว่าจำเลยมีอิทธิพลรู้จักนักการเมืองและผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก จำเลยเคยถูกออกหมายจับก็ไม่มีตำรวจคนใดกล้าจับ จำเลยยังเคยดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยใช้อำนาจนอกเหนือไปจากวิธีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจตามระเบียบและหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ตามบันทึกข้อตกลงก็ไม่มีข้อความตอนใดที่โจทก์ขอให้จำเลยทำให้ผู้มีอำนาจเข้าใจในตัวโจทก์ถูกต้อง กลับให้จำเลยไปพูดกับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่รู้จักกันเกี่ยวกับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ของผู้เสียหาย (โจทก์) อย่างเต็มที่ โดยสัญญาแบบผู้มีความรับผิดชอบให้ได้รับตำแหน่งสูงสุด และหากโจทก์ขอความช่วยเหลือ จำเลยจะต้องให้ความสะดวกและช่วยเหลือเต็มความสามารถ ข้อความดังกล่าวเป็นข้อยืนยันอยู่ในตัวว่า โจทก์ขอให้จำเลยช่วยเหลือโจทก์ได้มีตำแหน่งสูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ระเบียบแบบแผนและวิธีการของทางราชการ บันทึกข้อตกลงดังกล่าว จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share