คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 155/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสอบสวนทางวินัยเพราะเหตุบกพร่องต่อหน้าที่ราชการเป็นคนละกรณีกับการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง เพราะการบกพร่องต่อหน้าที่ราชการอาจไม่ถึงขนาดที่จะต้องรับผิดในทางแพ่ง รองผู้บัญชาการทหารอากาศทำการแทนผู้บัญชาการทหารอากาศได้ทราบเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 มีคำสั่งลงทัณฑ์จำเลยที่ 2 เหตุบกพร่องต่อหน้าที่ราชการทำให้เกิดทุจริตในเรื่องการเงินดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่โจทก์ทราบถึงกรณีที่จำเลยที่ 2 ถูกลงทัณฑ์ทางวินัย เมื่อโจทก์ได้ทราบตัวผู้รับผิดทางแพ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่เกินหนึ่งปีคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายการเงินมีหน้าที่ควบคุมดูแลการรับจ่ายเงินให้ถูกต้องตรงตามหลักฐาน รับผิดชอบในการทำบัญชีเงิน ควบคุมดูแลในการทำบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้ให้ตรงกับความเป็นจริง ควบคุมดูแลกิจการร้านค้าที่เกี่ยวกับการเงินและการบัญชีทั้งปวงให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย การที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบ ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดการเงินยักยอกเงินไปได้ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้จัดตั้งร้านค้าทหารอากาศดอนเมืองขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย การเงินประจำวันต่าง ๆ ของร้านค้าทหารอากาศดอนเมือง โจทก์ได้วางระเบียบมอบหมายให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการร้านค้า หัวหน้าฝ่ายการเงิน หัวหน้าหมวดการเงินและพนักงานการเงินเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบ จำเลยที่ ๑ ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหมวดการเงิน จำเลยที่ ๒ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงิน จำเลยที่ ๓ เป็นผู้จัดการร้านค้า จำเลยที่ ๖ ในฐานะเลขานุการร้านค้าเป็นนายทหารพยานของร้านค้า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นพนักงานการเงิน เมื่อระหว่างวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ได้ยักยอกเงินของโจทก์จากร้านค้าทหารอากาศดอนเมืองไปรวม ๗๒๖,๑๕๓.๒๕ บาท โจทก์ได้ทราบว่าจำเลยจะต้องรับผิดเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๐จำเลยที่ ๑ ได้ชดใช้เงินคืนให้โจทก์แล้ว ๒๒๐,๕๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันชดใช้เงินที่ขาดอยู่ ๕๐๕,๖๕๓.๒๕ บาท กับให้จำเลยที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ใช้เงิน ๒๗๑,๓๐๐ บาท จำเลยที่ ๕ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ใช้เงิน ๔๓๑,๖๐๐ บาท จำเลยที่ ๖ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ใช้เงิน ๔๙,๙๔๘.๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ให้การว่า ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างใดจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินของโจทก์ที่จำเลยที่ ๑ ยักยอกเอาไปตามฟ้อง กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๕๐๕,๖๕๓.๒๕ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่๑ ใช้เงินสำหรับจำนวน ๔๙๔,๗๒๕.๒๕ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยของเงินจำนวนนี้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ในปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ฎีกาอ้างว่าเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๘โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ ได้มีคำสั่งลงทัณฑ์จำเลยที่ ๒ อ้างเหตุว่าบกพร่องต่อหน้าที่ราชการ ทำให้เกิดทุจริตในเรื่องการเงินตามหนังสือสก.ทอ.ลับที่ ๑๖๖/๑๕ (ที่ถูกต้อง ๑๖๖/๑๙) ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๙ ตามเอกสารหมาย ล.๘ และรองผู้บัญชาการทหารอากาศทำการแทนผู้บัญชาการทหารอากาศได้ทราบเรื่องที่จำเลยถูกลงทัณฑ์ดังกล่าว และทำหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อแจ้งเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ถูกลงทัณฑ์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทราบเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๙ ย่อมถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและผู้ทำละเมิดแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การสอบสวนทางวินัยเพราะเหตุบกพร่องหน้าที่ราชการเป็นคนละกรณีกับการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเพราะการบกพร่องต่อหน้าที่ราชการอาจไม่ถึงขนาดที่จะต้องรับผิดในทางแพ่งดังที่จำเลยที่ ๒ ยกเป็นข้อต่อสู้ในคดีนี้ก็ได้ ดังนั้นจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่โจทก์ทราบถึงกรณีที่จำเลยที่ ๒ ถูกลงทัณฑ์ทางวินัย ดังจำเลยที่ ๒ ฎีกา ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งว่าโจทก์ได้ทราบตัวผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๐ โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๑ ยังไม่เกินหนึ่งปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘
ในปัญหาว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ หรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องถึงเหตุที่จำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินของร้านค้าทหารอากาศดอนเมืองไปได้โดยวิธีนำเงินของร้านค้าทหารอากาศดอนเมืองฝากธนาคารน้อยกว่าจำนวนที่จะต้องนำฝากจริงเกือบทุกรายการ ไม่ได้นำฝากเลยหนึ่งรายการและรายการวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ที่เป็นเช็คของลูกหนี้สั่งจ่ายเงิน ๘๐๐ บาท ชำระหนี้ร้านค้าทหารอากาศดอนเมือง ธนาคารเจ้าของเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ ๑ รับเช็คคืนจากธนาคารแล้วนำเช็คนั้นไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายโดยตรงผู้สั่งจ่ายชำระเงินสดให้ จำเลยที่ ๑ ยักยอกเอาไปเสีย ซึ่งปรากฏว่าเงินรายการนี้ลงบัญชีถูกต้อง การคืนเช็คที่รับเงินไม่ได้ ธนาคารไม่ได้คืนให้ร้านค้าทหารอากาศดอนเมืองจำเลยที่ ๒ และจำเลยคนอื่น ๆ ไม่มีโอกาสจะทราบได้ว่าเช็คที่นำเข้าบัญชีของร้านค้าทหารอากาศดอนเมืองเรียกเก็บเงินไม่ได้จึงไม่มีโอกาสที่จะตรวจสอบติดตามได้ เห็นว่าเงินจำนวน ๘๐๐ บาท ดังวินิจฉัยนี้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ส่วนเงินรายการอื่น ๆ จำเลยที่ ๒ ในฐานะทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายการเงินมีหน้าที่ควบคุมดูแลการรับ – จ่ายเงินให้ถูกต้องตรงตามหลักฐาน รับผิดชอบในการทำบัญชีเงิน ควบคุมดูแลในการทำบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้ให้ตรงกับความเป็นจริง ควบคุมดูแลกิจการร้านค้าที่เกี่ยวกับการเงินและการบัญชีทั้งปวงให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยตามเอกสารหมาย จ.๕ หรือ ล.๑ ถ้าหากจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่ของตนดังกล่าวโดยไม่บกพร่อง คือตรวจการเงิน การบัญชี สมุดเงินฝากธนาคาร ใบฝากเงินธนาคาร และสมุดเงินสดใหญ่ก่อนและหลังจำเลยที่ ๑ นำเงินฝากธนาคารแล้ว จำเลยที่ ๒ จะทราบได้ทันทีว่าจำเลยที่ ๑ นำเงินฝากธนาคารน้อยกว่าจำนวนที่ต้องนำฝากจริงหรือไม่ได้ฝากเลย หรือยังไม่ได้จ่ายเงินให้คณะกรรมการร้านค้าทหารอากาศดอนเมืองอีก ๔ คน เพราะเหตุจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จึงยักยอกเงินรายการอื่น ๆ ไปได้ ดังนั้นจำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ รวมเป็นเงิน ๕๐๔,๘๕๓.๒๕ บาท สำหรับจำเลยที่ ๓ ตามระเบียบกองทัพอากาศว่าด้วยร้านค้าทหารอากาศดอนเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ ข้อ ๑๓ ให้ผู้จัดการร้านค้ามีอำนาจเฉพาะในกิจการของร้านค้าเกี่ยวกับการอนุมัติการจัดหาสินค้าและอนุมัติการจ่ายเงินเกี่ยวกับการจัดหาสินค้าเท่านั้น ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๑๐ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบควบคุมเกี่ยวกับการเงินและการบัญชีเลย ที่โจทก์วางระเบียบการรับจ่ายเงินประจำวันของร้านค้าทหารอากาศดอนเมืองให้พนักงานการเงินเสนอสมุดเงินฝากธนาคารพร้อมใบฝากเงินธนาคารต่อผู้จัดการลงชื่อในช่องผู้อนุมัตินั้น และเมื่อฝากเงินธนาคารแล้ว พนักงานการเงินต้องนำสมุดเงินฝากธนาคาร ใบรับฝากเงินธนาคารรับรองว่าได้รับฝากเงินหรือตั๋วเงินแล้วและสมุดเงินสดใหญ่ที่ลงบัญชีหักกลบลบหนี้แสดงยอดเงินเหลืออยู่ที่ธนาคารเท่าไรเสนอผู้จัดการอีกครั้งหนึ่งเพื่อประทับตราลงชื่อว่าถูกต้องนั้นเห็นว่าหน้าที่การตรวจสอบความถูกต้องเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๓ เพียงรับทราบเท่านั้น ดังนั้นจำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ เพราะไม่มีหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คือลงบัญชีรับ – จ่ายเงินประจำวันตามเอกสารหมาย ล.๒, ล.๓ และ ล.๔ ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยที่ ๑ ทำขึ้นแม้จะไม่ใช่ใบรับ – จ่ายเงินที่เจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ ส่งมาให้จำเลยที่ ๑ อันเป็นการผิดระเบียบก็ตาม แต่เป็นการทำผิดระเบียบตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ไม่ทราบว่าเอกสารหมาย ล.๒, ล.๓ และ ล.๔ นั้นไม่ถูกต้องตรงกับใบรับ – จ่ายเงินที่เจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ ส่งมา จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ จึงมิได้ประมาทเลินเล่อแต่ประการใด ทั้งเงินที่จำเลยที่ ๑ ยักยอกตามฟ้องก็เป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ นำฝากน้อยกว่าจำนวนที่ต้องฝากจริงหรือไม่ได้ให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ลงบัญชีไม่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีของจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ดังนั้นจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ สำหรับจำเลยที่ ๖ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๖ ไม่มีหน้าที่เซ็นชื่อในฐานะทหารพยานเพราะไม่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้ากรมสวัสดิการทหารอากาศหรือผู้จัดการร้านค้าทหารอากาศดอนเมือง ผู้ที่จะลงชื่อในฐานะนายทหารพยานมีหน้าที่ต้องตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ให้ถูกต้องก่อนที่จะลงนามเช่นนั้นได้และอยู่ในฐานะจะรู้การรับ – จ่ายทุกรายการอย่างถูกต้องด้วยนั้นเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ ๖ ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารพยานเสียแล้ว การที่จำเลยที่ ๖ จะลงชื่อหรือไม่ลงชื่อรับรองการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันตามที่โจทก์ฟ้อง ก็ไม่ใช่เรื่องปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ ๖ แต่ประการใดการที่จำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินไปตามฟ้องไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๖ จำเลยที่ ๖ ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๖ ทุจริตร่วมกับจำเลยที่ ๑ นั้น เป็นการนอกประเด็นเพราะโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นเป็นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ เพียงจำนวนเงิน ๕๐๔,๘๕๓.๒๕ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share