แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
(จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 แต่ร้านเปิดดำเนินกิจการในวันที่ 21 มกราคม 2549 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548) โจทก์และคณะบุคคลแมสคอตโดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงว่า โจทก์จะนำสิทธิในวันหยุดพักผ่อน วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์มาใช้หยุดในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุง หากโจทก์ใช้วันหยุดเกินสิทธิ คณะบุคคลแมสคอตขอสงวนสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าว และโจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและยินดีให้ความร่วมมือในเอกสารดังกล่าว แต่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า “ค่าจ้าง” ให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งวันหยุดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวล้วนเป็นวันหยุดที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแม้ลูกจ้างจะมิได้ทำงานทั้งสิ้น นอกจากนี้การมอบหมายงานหรือการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเป็นสิทธิของนายจ้าง การที่นายจ้างไม่อาจมอบหมายงานหรือสั่งงานให้ลูกจ้างทำ ทั้งที่ลูกจ้างมีความพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างนั้นนายจ้างจึงยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ตกลงจ้างกัน นายจ้างจะยกขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีงานให้ลูกจ้างทำจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองให้โจทก์หยุดงานในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุงอันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่มีงานให้โจทก์ทำ มิใช่โจทก์ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำค่าจ้างที่จ่ายให้แก่โจทก์ ในช่วงนหยุดดังกล่าวมาหักกับค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับหลังจากร้านเปิดดำเนินการแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาจ้างมีกำหนด 2 ปี แต่จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสในการทำงานกับผู้อื่นและได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันบอกเลิกสัญญาถึงวันที่สัญญาจ้างครบกำหนด คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาโดยบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างภายใน 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 18 มีนาคม 2549 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2549 จำเลยทั้งสองไม่จ่ายภายในเวลาดังกล่าวจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป ไม่มีบทกฎหมายใดให้จำเลยทั้งสองต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทันทีเมื่อเลิกจ้าง จำเลยทั้งสองต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดคือวันทวงถาม ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองจ่ายในวันใด ต้องถือวันฟ้องเป็นวันทวงถาม จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงสามารถหยิบยกแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 34,986 บาท ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างจำนวน 1 เดือน เป็นเงิน 50,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 50,000 บาท และค่าเสียหายจำนวน 871,658 บาท รวมเป็นเงิน 1,006,644 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์คืนนามบัตรและบัญชีรายชื่อของลูกค้าแก่จำเลยทั้งสอง และชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 224,074 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 34,982 บาท ค่าชดเชย 50,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 50,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้าง 136,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยของค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้คิดตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2549 ส่วนดอกเบี้ยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างให้คิดตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไป คำขออื่นให้ยกและยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อ คอนทราซี่ (CONTRAZI) ตั้งอยู่เลขที่ 19 ซอยสุขุมวิท 11 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร สถานที่ประกอบกิจการดังกล่าวจำเลยทั้งสองเช่าจากบริษัทสุขุมวิทแลนด์ จำกัด โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดตั้งคณะบุคคลชื่อแมสคอตประกอบกิจการร้านอาหารดังกล่าว ร้านอาหารคอนทราซี่ของจำเลยทั้งสองมีที่นั่งรับประทานอาหารของลูกค้าประมาณ 200 ที่นั่ง โดยเปิด ให้บริการลูกค้าตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ในแต่ละวันร้านอาหารคอนทราซี่เปิดให้บริการสองรอบ รอบแรกเวลา 11.30 นาฬิกา ถึง 14.30 นาฬิกา รอบที่สองเวลา 18 นาฬิกา ถึง 22.30 นาฬิกา เมื่อเดือนกันยายน 2548 คณะบุคคลแมสคอตโดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นผู้จัดการ ร้านอาหารคอนทราซี่ กำหนดระยะเวลาจ้าง 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2550 ค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม 2549 คณะบุคคลแมสคอตโดยจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ มีผลนับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ก่อนฟ้องโจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าชดเชยและค่าสินไหมทดแทนแล้ว โจทก์ไม่ได้เพิกเฉยต่อการที่ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิดโดยการลักขโมยกินอาหารของร้าน หรือไม่ตักเตือนและไม่แจ้งต่อนายจ้าง โจทก์ไม่ได้สร้างความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งพรรคแบ่งพวกทำให้บุคลากรในร้านขาดความสามัคคี โจทก์ปฏิบัติหน้าที่เหมาะสมตามตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้เพิกเฉยจนก่อให้เกิดความบกพร่องต่อหน้าที่และเนื้องาน แต่ปฏิบัติงานด้วยความละเอียดรอบคอบ การรับสินค้าไวน์คนละปีเนื่องจากไวน์ที่สั่งซื้อหมด ไม่ได้สั่งซื้อสุราเกินความจำเป็น ไม่ได้ทำเอกสารหาย ไม่ได้ไม่มีความสามารถในการฝึกอบรมผู้ใต้บังคับบัญชาในการปฏิบัติงานในร้าน ไม่ได้ไม่ให้ความร่วมมือและประสานงานระหว่างแผนก ไม่ได้ขัดคำสั่งนายจ้างโดยรับพนักงานเข้าทำงานหรือให้พนักงานทำงานโดยพลการ ไม่ได้แสดงกิริยาดูหมิ่นไม่ให้เกียรติลูกค้าที่มาใช้บริการ และไม่ได้ไม่ให้ความเคารพต่อนายจ้างไม่ว่าโดยทางวาจาและกิริยา การที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธินำเงินที่จำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์ล่วงหน้าไป 21 วัน เป็นเงิน 34,986 บาท มาหักกับค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 แต่ร้านเปิดดำเนินกิจการในวันที่ 21 มกราคม 2549 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548 โจทก์และคณะบุคคลแมสคอตโดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงว่า โจทก์จะนำสิทธิในวันหยุดพักผ่อน วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์มาใช้หยุดในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุง หากโจทก์ใช้วันหยุดเกินสิทธิ คณะบุคคลแมสคอตขอสงวนสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าว และโจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและยินดีให้ความร่วมมือในเอกสารดังกล่าว แต่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า “ค่าจ้าง” ให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งวันหยุดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ล้วนเป็นวันหยุดที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแม้ลูกจ้างจะมิได้ทำงานทั้งสิ้น นอกจากนี้การมอบหมายงานหรือการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเป็นสิทธิของนายจ้าง การที่นายจ้างไม่อาจมอบหมายงานหรือสั่งงานให้ลูกจ้างทำ ทั้งที่ลูกจ้างมีความพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างนั้นนายจ้างจึงยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ตกลงจ้างกัน นายจ้างจะยกขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีงานให้ลูกจ้างทำจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์หยุดงานในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุงอันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่มีงานให้โจทก์ทำ มิใช่โจทก์ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำค่าจ้างที่จ่ายให้แก่โจทก์ในช่วงวันหยุดดังกล่าวมาหักกับค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับหลังจากร้านเปิดดำเนินการแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่าที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างโดยโจทก์ไม่ได้มีคำขอในส่วนของค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างมานั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 3.4 ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาจ้างมีกำหนด 2 ปี แต่จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสในการทำงานกับผู้อื่นและได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันบอกเลิกสัญญาถึงวันที่สัญญาจ้างครบกำหนด คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาโดยบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในส่วนที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้คิดดอกเบี้ยของค่าจ้างค้างจ่ายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2549 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์นั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคสอง กำหนดว่าในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างภายใน 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 18 มีนาคม 2549 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2549 จำเลยทั้งสองไม่จ่ายภายในเวลาดังกล่าวจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่มีบทกฎหมายใดให้จำเลยทั้งสองต้องจ่ายทันทีเมื่อเลิกจ้าง จำเลยทั้งสองต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดคือวันทวงถาม ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในวันใด ต้องถือวันฟ้องเป็นวันทวงถาม จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไป แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงสามารถหยิบยกแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยของค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2549 และดอกเบี้ยของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง