คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินมีโฉนดนั้นเมื่อถูกเวนคืนบางส่วนโดย พ.ร.ก.เพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสสรณ์ ฯลฯ กรรมสิทธิย่อมตกไปเป็นของรัฐส่วนหนึ่งแล้วทันที โดยไม่ต้องทำพิธีรังวัดแบ่งแยกทางพนักงานเจ้าหน้าที่
ถ้าหากรัฐบาลจะต้องส่งคืนที่ดินที่ถูกเวนคืน ผู้ที่ศูนย์เสียทรัพย์นั้นไปเพราะการเวนคืนเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับคืน ไม่ใช่ผู้ถือโฉนดในตอนหลังเพราะตนรับโอนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเท่านั้น
หลักก.ม.ในเรื่องเสรีภาพบริบูรณ์ในทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นที่รับนับถือกันตลอดมาแล้ว ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงต้องระบุวัตถุประสงค์ไว้ ถ้าไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่เวนคืนตามวัตถุประสงค์ก็จำต้องโอนอสังหาริมทรัพย์นั้นกลับคืนให้ผู้ถูกเวนคืน
พ.ร.ก.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดิน ฯลฯ เพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสสรณ์ ฯลฯ ม.4 ที่ให้เจ้าพนักงานจำหน่ายขายที่ดินที่รับซื้อไว้ ซึ่งเหลือจากการสร้างสพานหรือถนนแล้วนั้น หมายความเฉพาะที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานต้องกำหนดราคาค่าทดแทนเป็นต้วเงินให้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่ดินของโจทก์โฉนดที่ ๒๑๘๙ บางส่วน เนื้อที่ ๓ งาน ๕๖ ตารางวา ถูกเวนคืนโดยพระราชกฤษฎีกาเพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสสรณ์และคมนาคมเชื่อมจังหวัดพระนครและธนบุรี โดยไม่ได้ให้ค่าทดแทน ส่วนที่ถูกเวนคืนนี้ได้ถูกใช้โดยแท้จริงเพียง ๓๕ ตารางวา อีก ๓ งาน ๒๑ วา ไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่เวนคืน จำเลยไม่ยอมคืนให้โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยตัดฟ้องว่าที่ดินโฉนดที่ ๒๑๘๙ ศาลได้พิพากษาให้โจทก์โอนขายให้นางประทุม ราชพินิจจัยไปแล้วในคดีแดงที่ ๑๘๔/๒๔๘๘ และในปัจจุบันกรรมสิทธิตกเป็นของนางไพโรจน์ ปัจจุสานนท์ รับโอนไปอีกต่อหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืน อย่างไรก็ตามที่ดินรายนี้ถูกเวนคืนเพื่อตัดถนนตามพระราชกฤษฎีกา กรรมสิทธิตกเป็นของรัฐบาลและปัจจุบันนี้ตกอยู่ในความครอบครองดูแลของเทศบาลนครธนบุรี โจทก์ไม่มีทางเรียกคืนได้
นางไพโรจน์ ปัจจุสานนท์ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฏีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าการขายที่ดินโฉนดที่ ๒๑๘๙ นั้น ทั้งสองฝ่ายรู้กันดีว่าเนื้อที่ส่วนหนึ่งได้โอนกรรมสิทธิ์เป็นของรัฐแล้วโดยการเวนคืนตามม. ๒ แห่งพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีหมายเขตแน่นอนในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา อันมีผลให้กรรมสิทธิ์โอนไปโดยอำนาจกฎหมาย ไม่จำต้องทำพิธีแบ่งแยกโฉนด ตามข้อกฎหมายต้องถือว่าโจทก์มีที่ดินสองแปลง ๆ หนึ่งถูกเวนคืนไปเป็นของรัฐบาลอีกแปลงหนึ่งโจทก์ยังคงถือกรรมสิทธิ์อยู่จนถูกศาลบังคับให้ขาย
ศาลฎีกาได้วินิฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าถ้าจะต้องคืนที่ดินที่ถูกเวนคืน ผู้ที่ศูนย์เสียทรัพย์สินไปเพราะการเวนคืน จะต้องเป็นผู้ได้รับคืน ผู้ซื้อที่ดินในตอนหลัง ได้รับโอนไปเฉพาะกรรมสิทธิที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนและตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ไม่ได้รับโอนสิทธิ์ที่จะได้รับที่ดินกลับคืนด้วย
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ด้วยว่า ถ้ารัฐบาลมิได้ใช้ที่พิพาทตามพระราชกฤษฎีกา ตามหลักกฎหมายในเรื่องเสรีภาพบริบูรณ์ในทรัพย์สินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้รับนับถือกันตลอดมา แม้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น ทำเพื่อสาธารณะประโยชน์หรือประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น จึงระบุวัตถุประสงค์ไว้ในกฎหมายที่บังคับเวนคืน เมื่อไม่ได้ใช้ทรัพย์ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ กับไม่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ผู้มีหน้าที่ในการนั้นก็ต้องคืนส่วนที่มิได้ใช้แก่ผู้ถูกเวนคืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ม.๓๒ ก็ยืนยันหลักนี้ ในกรณีนี้พระราชกฤษฎีกา ม. ๔ ก็แสดงว่าที่ดินที่จะไม่ต้องคืนก็เฉพาะที่เจ้าพนักงานต้องกำหนดราคาค่าทดแทนให้เป็นตัวเงินเท่านั้น คดีนี้โจทก์อ้างในฟ้องว่าไม่ได้รับราคาที่ดินจำเลยไม่ปฏิเสธ กรณีจึงไม่อยู่ ม. ๔ รัฐบาลต้องคืนที่ดินที่เหลือใช้ให้ผู้ถูกเวนคืน
จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามนัยข้อกฎหมายข้างต้น

Share