คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) ตอนท้ายที่บัญญัติว่า “และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ” นั้นเป็นคำกว้าง ๆ ฉะนั้นตามที่เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ว่า “ผู้แจ้ง(โจทก์) เกรงว่าเช็คจะขาดอายุความจึงได้นำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน” นั้นจึงบ่งให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษแล้ว และโจทก์ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุคาม ส่วนการที่จะดำเนินคดีที่กล่าวมาเมื่อได้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวกับโจทก์ เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการอย่างใด จนโจทก์ไปแจ้งอีกเมื่อพ้นอายุความแล้วจึงได้ทำการสอบ ไม่ทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความ
เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเป็นเช็คลงวันที่จ่ายล่วงหน้าซึ่งถือว่าเป็นวันออกเช็คที่จำเลยจะต้องรับผิดตามเช็คไม่ใช่ถือเอาวันเขียนเช็คเป็นวันออกเช็ค ดังนั้นแม้โจทก์จะรู้ในขณะจำเลยเขียนเช็คว่าจำเลยไม่มีเงินสดในธนาคารอันจะใช้ให้โจทก์ได้ความเช็ค ก็ไม่ถือว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดกับจำเลยและไม่ถือว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจออกเช็คด้วยเจตนาที่จะไม่ให้มีการจ่ายเงินตามเช็ค โดยรู้อยู่แล้วว่าในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะให้ใช้เงินได้และออกเช็คให้ใช้เงินเป็นจำนวนสูงกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชี เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ โจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและมอบคดีให้ว่ากล่าว แต่พนักงานอัยการมีความเห็นในฟ้องจำเลย โจทก์จึงต้องฟ้องคดีเอง โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วจำเลยผัดผ่อนอยู่เรื่อย ๆ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ และขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คจำนวน ๓,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๙ จนถึงวันฟ้องและจากวันที่ฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับรับฟ้อง
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องทางอาญา ส่วนทางแพ่งยอมรับตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความฟ้องร้องทางอาญา พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ก กฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ถ้าต้องกักขังแทน ค่าปรับ ให้กักขังมีกำหนด ๑ ปี ให้จำเลยชำระเงิน ๓,๕๐๐ บาท พ้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๙ จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย ๑๕๐ บาทให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีส่วนอาญาของโจทก์ขาดอายคุวาม ขอให้ยกฟ้องคดีส่วนอาญา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องคดีส่วนอาญา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าคำร้องทุกข์จะต้องมีข้อความว่าโจทก์มอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อจำเลย การแจ้งความของโจทก์ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ ไม่ใช่คำร้องทุกข์ เพราะต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๕๐๙ โจทก์ต้องร้องทุกข์ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อจำเลยอีกนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๙ โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงิน ทางธนาคารปฏิเสธการจ่ายเพราะเงินในบัญชีจำเลยไม่พอจ่าย โจทก์ไปแจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ เจ้าหน้าที่บันทึกคำแจ้งความไว้ในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันของสถานีตำรวจ มีข้อความว่า “แจ้งใช้เช็คไม่มีเงิน วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ เวลา ๑๓.๕๐ นาฬิกา นายธงชัย (โจทก์) ฯลฯ ได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๐๙ นายมัด (จำเลย) ฯลฯ ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๐๙ จำนวนเงิน ๓,๕๐๐ บาท เพื่อชำระหนี้แทนเงินสด ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ผู้แจ้ง (โจทก์) ได้นำเช็คดังกล่าวไปขอรับเงิน แต่ทางธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งมาในใบคืนเช็คว่า “โปรดติดต่อกับผู้สั่งจ่าย” ผู้แจ้ง (โจทก์) เกรงว่าเช็คจะขาดอายุความ จึงได้นำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน”
ต่อมาวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๐๙ โจทก์ได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อจำเลยเจ้าหน้าที่จึงดำเนินการสอบสวนคดีขึ้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๗) บัญญัติว่า “คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า มีผู้กระทำความผิด จะรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ข้อความทั้งนี้เห็นได้ว่า การกล่าวหาที่ได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ เป็นคำกว้าง ๆ ฉะนั้นตามที่บันทึกไว้ว่าเกรงว่าเช็คจะขาดอายุความ จึงแจ้งไว้เป็นหลักฐานนี้ บ่งให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษแล้ว ส่วนการที่จะดำเนินคดีที่กล่าวหาเมื่อใดเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับโจทก์ เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการอย่างใด จนโจทก์ไปแจ้งอีกในเดือนธันวาคม ๒๕๐๙ จึงได้ทำการสอบสวนไม่ทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความดังจำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะโจทก์รู้อยู่แล้วว่า ในเดือนมีนาคมที่จำเลยเขียนเช็คให้โจทก์ ทั้งโจทก์และจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีเงินสดในธนาคาร อันจะใช้ให้โจทก์ได้ตามเช็ค โจทก์จึงร่วมกระทำผิดกับจำเลย จะเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้ เห็นว่า เช็คฉบับนี้ลงวันสั่งจ่ายล่วงหน้าเป็นวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ซึ่งถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันออกเช็คที่จำเลยจะต้องรับผิดตามเช็คใช่ถือเอาวันเขียนเช็คเป็นวันออกเช็ค จึงไม่เป็นดังที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share