คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1539/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยฐานชกต่อยผู้เสียหายแล้ว แม้ทางสอบสวนจะได้ความว่าจำเลยใช้มีดฟันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายด้วย พนักงานสอบสวนก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาจำเลยอีกว่าจำเลยใช้มีดฟันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเพราะเป็นรายละเอียดในการสอบสวน และเป็นการกระทำในข้อหาฐานทำร้ายร่างกายกระทงเดียวกัน ถือได้ว่าการสอบสวนได้กระทำโดยชอบ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกเปลี่ยนเป็นกักขัง จำเลยจะฎีกาขอให้ลงโทษปรับแต่สถานเดียวไม่ได้ เพราะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2519 จำเลยกับพวกที่หลบหนีอีกหลายคนได้ร่วมกันใช้กำลังชกต่อยและใช้มีดเป็นอาวุธฟันทำร้ายร่างกายพลทหารอากาศถาวร ประยุกติวัฒน์ จนเป็นอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 แล้วลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นกักขัง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยฐานชกต่อยผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ได้แจ้งข้อหาฐานใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย และไม่ได้สอบสวนในข้อหานี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 เห็นว่าแม้จะฟังตามที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยฐานชกต่อยผู้เสียหายเท่านั้น การชกต่อยก็คือการทำร้ายร่างกาย เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานหลักฐานได้ความว่า จำเลยใช้มีดฟันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายด้วย ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาจำเลยอีกว่า จำเลยใช้มีดฟันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เพราะเป็นรายละเอียดในการสอบสวน และเป็นการกระทำในข้อหาฐานทำร้ายร่างกายกระทงเดียวกัน ถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษปรับจำเลยสถานเดียวนั้นเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกจำเลย 1เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นกักขัง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นฎีกาดุลพินิจของศาล เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share