คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1537/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปี 2518 ลูกหนี้ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ได้ใช้เช็คเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากและนำเงินเข้าฝากหักทอนบัญชีหลายครั้งจนถึงปี 2522ลูกหนี้จึงขาดการติดต่อกับเจ้าหนี้ ปี 2529 ลูกหนี้เป็นหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยเป็นเงิน 35,850,401.97 บาท เจ้าหนี้มีพยานบุคคลและพยานเอกสารนำสืบได้สอดคล้องต้องกันว่า ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ส่วนการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เคยสอบสวนกรรมการของลูกหนี้ไว้โดยกรรมการของลูกหนี้ว่าลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือของเจ้าหนี้ก็เป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ หรือที่ว่าลูกหนี้ไม่เคยประกอบธุรกิจใด ๆก็ปรากฏว่ากรรมการดังกล่าวไม่เคยเข้าร่วมบริหารงานของลูกหนี้กรรมการลูกหนี้บางคนก็เพิ่งเข้าเป็นกรรมการของลูกหนี้หลังจากบริษัทลูกหนี้ตั้งได้ 2-3 ปีแล้ว คำให้การของกรรมการลูกหนี้ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่า หนี้ระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้เกิดจากการสมยอมหรือเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 130(8).

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน 35,850,401.97 บาท โดยอ้างว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ยินยอมให้กระทำขึ้นโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันจริง แม้หากฟังได้ว่าเจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจริงก็เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้น เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94(4) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ดังคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้หรือไม่ เจ้าหนี้มีนายชาญวุฒิ พูนวุฒิกุล รองสมุห์บัญชีของเจ้าหนี้ เป็นพยานให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2518ลูกหนี้มิได้บัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับเจ้าหนี้ตามเอกสารหมายจ.3 ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2518 ลูกหนี้ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินจากเจ้าหนี้ในวงเงิน 15,000,000 บาท ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 จากนั้นลูกหนี้ได้ใช้เช็คเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากและนำเงินเข้าฝากหักทอนบัญชีหลายครั้ง จนถึงเดือนสิงหาคม 2522ลูกหนี้จึงขาดการติดต่อกับเจ้าหนี้ ลูกหนี้เป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีและดอกเบี้ยคิดถึง วันที่ 2 มกราคม 2529 รวมเป็นจำนวนเงิน35,850,401.97 บาท ดังรายละเอียดปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.5 พยานหลักฐานของเจ้าหนี้ประกอบด้วยพยานบุคคลและพยานเอกสาร ได้ความสอดคล้องต้องกันดังนี้ และนายจำรูญบุณยอุดมศาสตร์ กรรมการของลูกหนี้ ก็ให้การเป็นพยานของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นสอบสวน คำขอรับชำระหนี้ว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่จริงตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ จึงเห็นว่าพยานหลักฐานของเจ้าหนี้มีน้ำหนักเชื่อได้ว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่เป็นจำนวนเงิน 35,850,401.97 บาท จริง อนึ่ง ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เคยสอบสวนนายจักร ปันยารชุน นายกิติ สุรภาพวงศ์และนายจำรูญ บุญยอุดมศาสตร์ กรรมการของลูกหนี้ไว้ ตามสำเนาคำให้การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวมได้ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้รายนี้นั้น เห็นว่า ที่นายจักรและนายจำรูญ ให้การไว้ว่าลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือของเจ้าหนี้เป็นเพียงคำให้การกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าเป็นความจริง และที่นายจักรกับนายกิติ ให้การว่าลูกหนี้ไม่เคยประกอบธุรกิจใด ๆ เลยนั้น ก็เห็นว่าจากคำให้การของนายจักรที่ว่า นายจักรไม่เคยเข้าร่วมบริหารงานของลูกหนี้ไม่ทราบว่าลูกหนี้ดำเนินธุรกิจไปในทางใด นายจักรเพียงแต่ทราบในภายหลังว่าลูกหนี้ไม่ได้ประกอบธุรกิจใด ๆ และจากคำให้การของนายกิติ ที่ว่านายกิติเพิ่งเข้าเป็นกรรมการของลูกหนี้เมื่อ ปี พ.ศ. 2518 หรือ2519 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ลูกหนี้ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อปี พ.ศ. 2516 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วเป็นเวลาถึง 2 หรือ 3 ปี เห็นได้ว่าทั้งนายจักรและนายกิติ ต่างก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าลูกหนี้เคยประกอบธุรกิจตามวัตถุประสงค์ดังที่ได้จดทะเบียนไว้ในการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือไม่ คำให้การของนายจักร นายกิติและนายจำรูญ ตามสำเนาคำให้การดังวินิจฉัยแล้ว จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ เป็นหนี้ที่เกิดจากการสมยอมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้หรือเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและด้วยเหตุดังวินิจฉัยแล้ว จึงเห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ดังคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเงิน35,850,401.97 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(8).

Share