คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15358/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2550 ติดต่อกันเกิน 3 งวด แต่ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และตามใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ยึดรถและไม่ได้โต้แย้งทักท้วง อันเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันยึดรถดังกล่าว
โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ครอบครองนับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 176,555.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 มิถุนายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถตู้ หมายเลขทะเบียน ฮข 6942 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ ในราคา 963,028.20 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 60 งวด งวดละ 16,050.47 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 8 มีนาคม 2550 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 8 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 4 งวดเศษ และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2550 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแก่จำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2551 โจทก์ติดตามยึดรถที่เช่าซื้อได้ตามบันทึกการส่งมอบรถยนต์ และโจทก์นำออกประมูลขายได้ 336,448.60 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกันเกิน 3 งวด โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว กรณีจึงมิใช่เป็นการสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2550 ติดต่อกันเกิน 3 งวด แต่ปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และตามใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะครบ 30 วัน ในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ยึดรถและไม่ได้โต้แย้งทักท้วง อันเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันยึดรถดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาได้เพราะโจทก์ได้รับความเสียหาย และแม้ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แล้วก็ยังต่ำกว่าทุนถึง 142,452.80 บาท นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ครอบครองนับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ซึ่งศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ตามที่โจทก์ขอแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share