แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์จะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อภายหลังจากฝ่ายลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้อง ฝ่ายโจทก์กับฝ่ายลูกจ้างมีการเจรจากันตามกฎหมายแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย แสดงว่ากระบวนการเจรจาต่อรองตามบทบัญญัติของกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การที่ผู้กล่าวหาลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในระหว่างกระบวนการใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวนั้น จึงถือว่าผู้กล่าวหาเป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องด้วยแล้ว การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับ ไม่มีผลทำให้ผู้กล่าวหาไม่อาจใช้สิทธิของตนตามกฎหมายได้ เมื่อผู้กล่าวหา เป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงร่วมนัดหยุดงานตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ได้ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 117-134/2549 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2549 เฉพาะในส่วนของผู้กล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 18
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 117-134/2549 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2549 ของจำเลยทั้งสิบสี่ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เฉพาะส่วนคำวินิจฉัยของผู้กล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 18
จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสี่ โดยจำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ว่า แม้ผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 จะลงลายมือชื่อเพิ่มเติมภายหลังจากที่มีการแจ้งข้อเรียกร้องไปแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและมีสิทธิร่วมนัดหยุดงานระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 โดยชอบผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 จึงไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องนั้นต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น…”แม้ผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 จะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้นแต่เมื่อภายหลังจากที่ฝ่ายลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้อง ฝ่ายโจทก์กับฝ่ายลูกจ้างมีการเจรจากันตามกฎหมายแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย แสดงว่ากระบวนการเจรจาต่อรองตามบทบัญญัติของกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การที่ผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในระหว่างกระบวนการใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวนั้น จึงถือว่าผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องด้วยแล้ว การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับ ไม่มีผลทำให้ผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 ไม่อาจใช้สิทธิของตนตามกฎหมายได้ เมื่อผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 เป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงร่วมนัดหยุดงานตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ได้ ในระหว่างที่ผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 ร่วมนัดหยุดงานโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสี่ในส่วนของผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 มาด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสี่ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อไปว่า การที่ผู้กล่าวหาที่ 3 ถึงที่ 14 รวม 12 คน ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย เป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541และการยื่นคำร้องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามมิให้ลูกจ้างใช้สิทธิตามกฎหมายสองฉบับในคราวเดียวกัน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าผู้กล่าวหาที่ 3 ถึงที่ 14 ต้องเลือกถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายตามคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสี่จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสี่ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสี่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยทั้งสิบสี่ให้การว่าการวินิจฉัยและออกคำสั่งชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงประเด็นแห่งคดีนี้จึงมีเพียงว่ามีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสี่หรือไม่ เพียงใด ดังนั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิการได้รับเงินของผู้กล่าวหาที่ 3 ถึงที่ 14 ดังกล่าวมา ก็เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือประเด็นแห่งคดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสี่ในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 117-134/2549 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2549 ในส่วนของผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 15 ถึงที่ 18 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง