คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6501/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก พ. มีหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การแบ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 แม้โจทก์ได้ทำการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสามไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุดให้โจทก์แบ่งที่ดินมรดกให้แก่จำเลยทั้งสามคนละ 1 ใน 4 ส่วน และโจทก์ได้ทำการแบ่งแยกให้แก่จำเลยทั้งสามแล้วก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีการฟ้องร้องก่อนที่โจทก์จะแบ่งแยกที่ดินมรดกให้จำเลยทั้งสาม ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์และจำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินมรดกเป็น 7 ส่วน แล้วให้ส. ได้รับส่วนแบ่ง 1 ส่วน ดังนี้ คำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลตามคดีแพ่งทั้งสองคดีดังกล่าวย่อมขัดกัน กรณีต้องถือตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่สูงกว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ด้วย เมื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งแยกที่ดินมรดกออกเป็น 4 ส่วน แบ่งให้จำเลยทั้งสามคนละ 1 ใน 4 ส่วนไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์แบ่งเป็นทรัพย์มรดกรายนี้เสร็จสิ้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดพิพาทให้โจทก์เพื่อดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกต่อไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและเป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากับจำเลยที่ 3 เมื่อปี 2533 นายเพ็ง ร่มซ้าย บิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่นให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 2485 ตำบลพระลับอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเพ็งให้เฉพาะจำเลยทั้งสามกับโจทก์เท่านั้น โดยไม่แบ่งให้ทายาทของนายเพ็งอีก 3 คน คือนายสุดใจ ร่มซ้ายนายสุพัด ร่มซ้าย และนายกาหลง ร่มซ้าย ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาให้แบ่งที่ดินมรดกดังกล่าวเป็นสี่ส่วนและแบ่งให้จำเลยทั้งสามคนคนละหนึ่งส่วน โจทก์จึงจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2785 ออกเป็นสี่โฉนดและจดทะเบียนแบ่งให้จำเลยทั้งสาม โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 79564จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 79566 จำเลยที่ 3เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 79565 ต่อมาเดือนตุลาคม 2525โจทก์และจำเลยทั้งสามถูกนายสุดใจ ร่มซ้าย ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ ฟ้องขอแบ่งที่ดินมรดกต่อศาลจังหวัดขอนแก่น คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2785 ออกเป็น 7 ส่วนแล้วแบ่งให้นายสุดใจ 1 ส่วน หลังจากนั้นโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพ็ง ใช้สิทธิเรียกร้องติดตามที่ดินมรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 79564 ถึง 79566 คืนจากจำเลยทั้งสามเพื่อแบ่งโอนให้แก่ทายาทของนายเพ็งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 79564 ถึง 79566 ให้แก่โจทก์และเพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสามออกจากโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว หากศาลพิพากษาเพิกถอนแล้วจำเลยทั้งสามไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสามให้การว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นได้พิพากษาแบ่งปันที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามและโอนกันเสร็จไปแล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะเคยเป็นผู้จัดการมรดกมาแล้วเท่านั้นไม่มีอำนาจติดตามเอาทรัพย์สินที่โจทก์เคยแบ่งปันมาแล้วมาแบ่งปันใหม่เป็น 7 ส่วนได้อีก โจทก์ไม่ใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เพราะผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องจำเลยทั้งสามได้คือนายสุดใจโจทก์ไม่ได้นำที่ดินส่วนของโจทก์มาแบ่งปันด้วยถือว่าโจทก์ทำการไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องคำให้การและสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 79564 จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 79566 จำเลยที่ 3 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 79565 แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกโฉนดจากจำเลยทั้งสาม ปรากฎข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยจำเลยทั้งสามไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเพ็ง ต่อมาจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันฟ้องโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพ็งต่อมาจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันฟ้องโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพ็ง ขอให้แบ่งมรดกให้โจทก์และจำเลยทั้งสามคนละ1 ใน 4 ส่วน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 914/2535 ของศาลชั้นต้นคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์แบ่งที่ดินตามฟ้อง โจทก์จึงแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 2785 ออกเป็นสี่โฉนด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 79564จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 79566 จำเลยที่ 3เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 79565 และโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2785 ซึ่งเหลือจากการแบ่งแยกหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 914/2535 แต่ก่อนที่โจทก์จะแบ่งแยกที่ดินให้จำเลยทั้งสาม นายสุดใจ ร่มซ้ายฟ้องโจทก์และจำเลยทั้งสามขอให้แบ่งมรดกนายเพ็ง ให้แก่ฟ้องโจทก์และจำเลยทั้งสามขอให้แบ่งมรดกนายเพ็งให้แก่นายสุดใจ 1 ใน 7 ส่วน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 640/2536ของศาลชั้นต้นคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ให้แบ่งที่ดินของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 2785ออกเป็น 7 ส่วน ส่วนละเท่ากันให้นายสุดใจได้รับ 1 ส่วนโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 79564 ถึง79566 ให้โจทก์เป็นคดีนี้ เห็นว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนายเพ็ง มีหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 914/2535 จะถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์แบ่งที่ดินมรดกให้แก่จำเลยทั้งสามคนละ 1 ใน 4 ส่วน และโจทก์ได้ทำการแบ่งแยกให้แก่จำเลยทั้งสามแล้วก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 640/2536ซึ่งมีการฟ้องร้องก่อนที่โจทก์จะแบ่งแยกที่ดินมรดกให้จำเลยทั้งสาม ต่อมาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเช่นกันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์และจำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินมรดกเป็น7 ส่วน แล้วให้นายสุดใจ ได้รับส่วนแบ่ง 1 ส่วน ดังนี้คำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลตามคดีแพ่งทั้งสองคดีดังกล่าวย่อมขัดกัน กรณีต้องถือตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งเป็นศาลที่สูงกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสามและโจทก์เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 640/2536 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งแยกที่ดินมรดกออกเป็น 4 ส่วน แบ่งให้จำเลยทั้งสามคนละ1 ใน 4 ส่วน จึงไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ถือไม่ได้ว่าโจทก์แบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นเมื่อจำเลยทั้งสามไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดพิพาทให้โจทก์เพื่อดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกต่อไปได้ ทั้งการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share