คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คณะอนุญาโตตุลาการชุดก่อนได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกันผู้คัดค้านว่า การที่ผู้คัดค้านในฐานะผู้ได้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เรียกเก็บค่าผ่านทางเพิ่มเติมตามประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้น เป็นการไม่สอดคล้องกับสัญญาสัมปทาน ต่อมาผู้ร้องได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าผ่านทางเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยที่ได้รับจากประชาชนผู้ใช้ทางให้แก่ผู้ร้องซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังมีคำชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับเงินค่าผ่านทางระหว่างการปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทาง เพราะชอบด้วยสัญญาและกฎหมาย และให้ผู้ร้องใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลัง แต่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยในคดีที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ร้องยื่นฟ้องผู้ร้องเป็นผู้คัดค้านโดยมูลคดีเดียวกับคดีนี้ขอให้พิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งวินิจฉัยว่า ผู้ร้องในคดีนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินส่วนแบ่งค่าผ่านทางอัตราที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีการปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยจากผู้คัดค้านในคดีนี้ และให้ผู้ร้องในคดีนี้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้านในคดีนี้ตามคำเรียกร้องแย้ง โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดก่อนย่อมเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 21 วรรคสี่ ไม่อาจนำข้อโต้แย้งขึ้นสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้อีก การที่ผู้คัดค้านนำข้อพิพาทเรื่องเดียวกันมายื่นเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลัง เพื่อให้ชี้ขาดซ้ำอีก ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทำลายหลักการสำคัญของมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำชี้ขาดเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีโดยสิ้นเชิงไร้ประสิทธิผลโดยปริยาย การที่คณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังมีคำชี้ขาดข้อพิพาทเดียวกันใหม่จึงไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะชี้ขาดและศาลฎีกาในคดีดังกล่าวพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านในคดีนี้ และเมื่อคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดก่อนย่อมเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 22 วรรคหนึ่งและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กรณีหาจำต้องมีคำสั่งศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังอีกไม่ ทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 144 มีบทบัญญัติห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกรณีจึงไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังตามคำขอของผู้ร้องอีกการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเป็นการชอบแล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคำวินิจฉัยทั้งมวลในคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

เดิมผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2531 ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำสัญญาก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 เมื่อก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2536 กระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทย กำหนดอัตราค่าผ่านทางเป็นสองบัญชีบัญชีหมายเลข 1 กำหนดอัตราค่าผ่านทางสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ ตอนด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษถนนรัชดาภิเษกถึงด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษคลองประปา 2 และทางสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ตอนด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษคลองประปา 2 ถึงด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษถนนอโศก บัญชีหมายเลข 2 ทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ ตอนด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษถนนแจ้งวัฒนะถึงด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษถนนรัชดาภิเษก เนื่องจากสัญญาข้อ 11.3 กำหนดให้มีการปรับปรุงอัตราค่าผ่านทางทุก ๆ ระยะ 5 ปี ตามดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อโดยปรับเศษเป็นจำนวนเต็ม 5 บาท แต่ต้องไม่เกิน 10 บาท ในระยะเวลา 15 ปีแรกของการให้สัมปทาน ผู้ร้องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 เรื่องกำหนดให้ทางพิเศษสายดินแดง – ท่าเรือ สายบางนา – ท่าเรือ สายดาวคะนอง – ท่าเรือ สายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ตอนด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษคลองประปา 21 ถึงด่านเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษถนนอโศก 1 เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ กล่าวคือให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มโดยประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2541 ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคมมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ทบทวนปรับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 เนื่องจากมีความเห็นว่าเป็นการปรับราคาเกินกว่าสัญญาที่ระบุไว้ว่าจะปรับราคาได้ไม่เกินครั้งละ 10 บาท สำหรับทางด่วนทั้งระบบ ต่อมาวันที่ 23 ตุลาคม 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยยกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 และกำหนดค่าผ่านทางใหม่ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 ผู้คัดค้านยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม 2541 ขัดต่อสัญญาและไม่ตรงกับเจตนาของคู่สัญญาที่ตกลงไว้ในสัญญาข้อ 11.3 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวสอดคล้องและตรงตามเจตนาของคู่สัญญา และขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าผ่านทางที่รับเกินไปจากผู้ร้องในระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2541 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2541 เป็นเงิน 29,240,041 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2542 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า การเรียกเก็บค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสัญญาข้อ 11.3 ส่วนกรณีที่ผู้ร้องขอให้คืนเงินที่รับเกินไปนั้น คณะอนุญาโตตุลาการยังไม่มีอำนาจพิจารณาเพราะยังไม่ได้เสนอต่อคณะผู้พิจารณาเป็นการขัดต่อสัญญาข้อ 27.1 จึงให้ยกคำขอให้คืนเงิน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2542 ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะผู้พิจารณาตามสัญญาเพื่อวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าผ่านทางส่วนที่รับไว้เกินจำนวน 29,240,041 บาท คณะผู้พิจารณาให้คู่สัญญาเจรจากัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงให้ยุติการพิจารณาและให้คู่สัญญานำข้อพิพาทไปดำเนินการตามสัญญาในชั้นอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 32/2543 ขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าผ่านทางที่รับเกินไปดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านปฏิเสธการจ่ายเงินและเรียกร้องแย้งให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายโดยคำนวณจากผลต่างของอัตราค่าผ่านทางระหว่างประกาศการปรับอัตราค่าผ่านทางฉบับใหม่กับประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม 2541 คำนวณถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2543 เป็นเงิน 360,898,617 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 25.6 แก่ผู้คัดค้าน พร้อมค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ปรับค่าผ่านทางให้สอดคล้องกับสัญญา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2544 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 45/2545 ว่า เงินค่าผ่านทาง 29,240,041 บาท ซึ่งผู้คัดค้านได้รับจากผู้ร้องชอบด้วยสัญญาและชอบด้วยกฎหมายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ให้อำนาจผู้ร้องที่จะคืนเงินค่าผ่านทางให้แก่ผู้ใช้ทาง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจากผู้คัดค้าน ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง เนื่องจากประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม 2541 ไม่สอดคล้องตามสัญญา ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ร้องเป็นเงิน 360,898,617 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 25.6 ให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้คัดค้าน ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2544 แต่เห็นว่าคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อสัญญาและกฎหมายที่ใช้บังคับกับข้อพิพาท จึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1297/2545 ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 32/2543ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 45/2544
ผู้คัดค้านให้การแก้คำร้องว่า ศาลปกครองกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 และ 9 ศาลที่มีเขตอำนาจคือศาลยุติธรรมได้แก่ ศาลแพ่งหรือศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2544 เมื่อนับถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางพ้นกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดแล้ว คำร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยมาตรา 40 วรรคสองของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายทุกประการไม่มีเหตุเพิกถอนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องโต้แย้งว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง
ศาลปกครองกลางทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งได้แก่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 (2)
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โอนคดีมายังศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเบื้องต้นข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เดิมผู้ร้องฟ้องคดีนี้ที่ศาลปกครองกลางสรุปได้ว่าผู้ร้องทำสัญญาว่าจ้างผู้คัดค้านก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 โดยให้ผู้คัดค้านได้รับสัมปทาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มแต่มีผู้โต้แย้งว่าเป็นการปรับอัตราค่าผ่านทางเกินกว่าสัญญา จึงมีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ยกเลิกประกาศฉบับปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่ม ผู้คัดค้านยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการอ้างว่า การยกเลิกการปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มเป็นการขัดต่อสัญญาสัมปทาน ส่วนผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า การยกเลิกการปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มถูกต้องตามเจตนาของคู่สัญญาแล้ว และมีข้อเรียกร้องแย้งว่าให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าผ่านทางที่รับเพิ่มในช่วงที่มีการอนุมัติให้ปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมดอกเบี้ย คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า การเรียกเก็บค่าผ่านทางเพิ่มไม่สอดคล้องกับสัญญาสัมปทานโดยยังไม่วินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับเงินค่าผ่านทางตามอัตราซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากผู้คัดค้านหรือไม่ ต่อมาผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 32/2543 ขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินที่ได้รับเกินไปพร้อมดอกเบี้ย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านปฏิเสธและเรียกร้องแย้งให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายคำนวณจากผลต่างของอัตราค่าผ่านทางระหว่างการประกาศปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางจนถึงขณะมีการยกเลิกประกาศนั้นพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้าน รวมทั้งค่าเสียหายรายวันจนกว่าจะออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ปรับอัตราค่าผ่านทางให้สอดคล้องกับสัญญา คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 45/2545 ว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับเงินค่าผ่านทางระหว่างการปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางเพราะชอบด้วยสัญญาและกฎหมาย ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งยกเลิกการปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่ม ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจากผู้ร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องเห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อสัญญาและกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาท ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 32/2543 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 47/2544 ต่อมาศาลปกครองกลางและศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีความเห็นต้องกันว่า ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้คือศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีจึงโอนมายังศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำวินิจฉัยแล้ว คดีจึงอุทธรณ์ต่อศาลฎีกามาเป็นลำดับ การพิจารณาพิพากษาคดีนี้ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมจึงต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย หลังจากที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องและผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแล้ว ผู้ร้องยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ว่า คดีนี้เกี่ยวพันกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4713/2545 หมายเลขแดงที่ 9932/2547 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 32/2543 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 45/2544 ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง คำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจึงสอดคล้องกัน เนื่องจากเหตุที่ขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดังกล่าวยังคงมีอยู่ ขอศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยในคดีนี้ด้วย โดยผู้ร้องแนบสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าว คดีหมายเลขแดงที่ 11102/2551 มาพร้อมคำแถลง ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ร้องยื่นฟ้องผู้ร้องเป็นผู้คัดค้านโดยมูลคดีเดียวกับคดีนี้ขอให้พิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งวินิจฉัยว่าผู้ร้องในคดีนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินส่วนแบ่งค่าผ่านทางอัตราที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยจากผู้คัดค้านในคดีนี้ และให้ผู้ร้องในคดีนี้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้านในคดีนี้ตามคำเรียกร้องแย้งในผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางที่ผู้ร้องในคดีนี้พึงเรียกเก็บได้ตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ของกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 และฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม 2541 ตามช่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ย จนกว่าผู้ร้องในคดีนี้จะมีการดำเนินการตามสัญญาให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวมีคำวินิจฉัยสรุปได้ว่า คณะอนุญาโตตุลาการชุดก่อนซึ่งประกอบด้วยศาสตราจารย์โสภณ นายรัตน์ และรองศาสตราจารย์อนันต์ ทำคำชี้ขาดฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2542 ทั้งมีการส่งสำเนาคำชี้ขาดแก่คู่กรณีโดยชอบแล้วคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 21 วรรคสี่ ไม่อาจนำข้อโต้แย้งขึ้นสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้อีกด้วยเหตุนี้ การที่ผู้คัดค้านในคดีนี้นำข้อพิพาทเรื่องเดียวกันมายื่นเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังซึ่งประกอบด้วยนายมีชัย นายพิมล และนายมรุธา เพื่อให้ชี้ขาดซ้ำอีกย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะทำลายหลักการสำคัญของมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่บัญญัติให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีโดยสิ้นเชิงไร้ประสิทธิผลโดยปริยาย การที่คณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังมีคำชี้ขาดข้อพิพาทเดียวกันใหม่จึงไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าวซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะชี้ขาด จึงพิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านในคดีนี้ เมื่อศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยแล้วว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดก่อนย่อมเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง กับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กรณีหาจำต้องมีคำสั่งศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังซึ่งชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 32/2543 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 45/2544 อีกไม่ เท่ากับศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังไม่มีผลบังคับ ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 มีบทบัญญัติว่า “เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น อันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น…” กรณีจึงไม่จำต้องมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังตามคำขอของผู้ร้องอีก คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคำวินิจฉัยทั้งมวลในคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share