คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15341/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้หนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ท. และบริษัท ท. ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนแล้วก็ตาม แต่ในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกัน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว…” เช่นนี้ หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผน แต่ในหนี้ส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อได้ความว่าตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากส่วนที่เป็นต้นเงิน 12,299,632.50 บาท หาใช่เต็มจำนวน 44,820,878.50 บาท ตามที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้น โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องส่วนที่ขาดจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ เมื่อส่วนที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้จากบริษัท ท. ลูกหนี้ชั้นต้นตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยชำระหนี้ให้โจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นยุติตามที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 3484/2545 ซึ่งโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน เจ้าหนี้เดิม และศาลแพ่งมีคำสั่งให้โจทก์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนแล้ว จำเลยและลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 172556 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีราคารวม 1,473,000 บาท แต่มีภาระจำนองแก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) วงเงิน 400,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอชำระหนี้โจทก์ จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อแรกว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์และหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า แม้หนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 3488/2545 ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทไทย ไทโย จำกัด และบริษัทไทย ไทโย จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนแล้วก็ตาม แต่ในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกัน พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว…” เช่นนี้ หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผน แต่ในหนี้ส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อได้ความว่าตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากส่วนที่เป็นต้นเงิน 12,299,632.50 บาท หาใช่เต็มจำนวน 44,820,878.50 บาท ตามที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้น โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องส่วนที่ขาดจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ เมื่อส่วนที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า กรณีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้จากบริษัทไทย ไทโย จำกัด ลูกหนี้ชั้นต้นตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยชำระหนี้ให้โจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยล้วนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share