แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย วิธีที่สอง โดยเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายใต้เงื่อนไข มาตรา 96 ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ในประการใดประการหนึ่ง กล่าวโดยเฉพาะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันในคดีนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) ในกรณีนี้หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินมายังไม่พอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่การขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา 91 บทบัญญัติทั้งสองมาตราแยกให้เห็นข้อแตกต่างในวิธีการขอรับชำระหนี้และข้อแตกต่างในผลของการใช้สิทธิมาตราใดมาตราหนึ่ง ดังนั้นเจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้เลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) แล้ว เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสามเด็ดขาด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 และมีคำพิพากษาให้ล้มละลายวันที่ 2 มีนาคม 2554 ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2554 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้สำหรับหลักประกัน คือที่ดินโฉนดเลขที่ 203 และ 33742 ของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 ในมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน สัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนองและค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 48,172,956.76 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากเจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับทรัพย์หลักประกันเดียวกันอย่างเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96 (3) แล้ว ย่อมหมดสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 95 อีก
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งผู้คัดค้านโดยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่า เดิมจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนและสัญญากู้เงินกับเจ้าหนี้ 2 สัญญา ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท และ 25,000,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดิน โฉนดเลขที่ 203 และ 33742 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ วงเงินจำนอง 30,000,000 บาท มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน ตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน สัญญากู้เงินสัญญาค้ำประกัน และสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ต่อมาเจ้าหนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามให้เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 และมีคำพิพากษาให้ล้มละลายวันที่ 2 มีนาคม 2554 วันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้รายที่ 2 จากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม ในมูลหนี้ตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน ค้ำประกัน จำนอง จำนวนเงิน 8,594,628.69 บาท อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) โดยมีหลักประกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 203 และ 33742 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2554 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 สำหรับมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 จำนวนเงิน 48,172,956.76 บาท ในหลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 203 และ 33742 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้มีว่า การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้ตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) แล้ว เจ้าหนี้จะใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เหนือทรัพย์หลักประกันเดียวกันได้อีกหรือไม่ เห็นว่า มูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน 30,000,000 บาท เพียงแต่แบ่งสัญญากู้เงินออกเป็นสองฉบับ เพื่อให้ตรงตามความประสงค์การกู้ยืมแต่ละจำนวนโดยมีการจดทะเบียนจำนองหลักประกันเพียงครั้งเดียวเท่ากับจำนวนที่กู้ยืม มิใช่แยกการจดทะเบียนจำนองแต่ละยอดหนี้ที่กู้ยืม ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น” มาตรา 96 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้วขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน (2) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ (3) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สิน อันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ (4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่…” บทบัญญัติของมาตราทั้งสองนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย วิธีที่สอง โดยเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายใต้เงื่อนไข มาตรา 96 ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ในประการใดประการหนึ่งกล่าวโดยเฉพาะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันในคดีนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) ในกรณีนี้หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินมายังไม่พอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่การขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา 91 บทบัญญัติทั้งสองมาตราแยกให้เห็นข้อแตกต่างในวิธีการขอรับชำระหนี้และข้อแตกต่างในผลของการใช้สิทธิมาตราใดมาตราหนึ่ง ดังนั้นเจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้เลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) แล้ว เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 95 นั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ