คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1534/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องทุกข์นั้น ย่อมมอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทนกันได้ (อ้างฎีกาที่ 755/2502) และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับให้ร้องทุกข์ได้เฉพาะต่อพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจเสมอไปเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยปฏิเสธ ต่อสู่ว่าระหว่างสอบสวนโจทก์จำเลยประนีประนอมเลิกคดีกันแล้ว คำร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ฟ้องคดีเกิน ๓ เดือน ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า กรรมการบริษัทโจทก์มิได้ร้องทุกข์ด้วยตนเอง จะมอบให้นายไพบูลย์ร้องทุกข์แทนไม่ได้ ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์ โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๓ เดือน ขาดอายุความ ทั้งตามรูปคดี โจทก์จำเลยอาจทำตามตกลงกันแล้ว โจทก์ได้ถอนคดีจากพนักงานสอบสวน โจทก์จะกลับมาฟ้องอีกไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ขอรับหลักฐานคืน จากตำรวจไปดำเนินคดีเอง มิใช่ถอนคำร้องทุกข์หรือยอมเลิกคดีกับจำเลย การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ก็ใช้ได้ตามกฎหมาย การร้องทุกข์ต่อตำรวจนครบาลท่าเรือ แม้จะถือว่า ตำรวจนครบาลท่าเรือไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีเกิน ๓ เดือน ไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ จำคุกจำเลย ๓ เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า นายชูเกียรติกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้มอบให้นายไพบูลย์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจในเรื่องนี้ได้ ตามฎีกาที่ ๗๕๕/๒๕๐๒
ในเรื่องการร้องทุกข์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กฎหมายไม่ได้บังคับให้ร้องทุกข์เฉพาะต่อพนักงานสอบสวนเสมอไป เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๔ บัญญัติว่า ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวนและเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้ และเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่รับคำร้องทุกข์ไว้ จะต้องส่งคำร้องทุกข์ไปยังพนักงานสอบสวนเอง เหตุนี้ ปัญหาที่ว่าตำรวจสถานีตำรวจนครบาลท่าเรือมีอำนาจสอบสวนคดีนี้หรือไม่ จึงไม่สำคัญในการวินิจฉัยว่ามีการร้องทุกข์หรือไม่ เมื่อตำรวจที่นั่นรับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว ก็ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบ
ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share