คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1271/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พลตำรวจเข้าไปจับหญิงนครโสเภณี เห็นผู้หญิงกับผู้ชายคู่หนึ่งนั่งคุยในห้องซึ่งเปิดประตูอยู่ เช่นนี้ ยังเรียกไม่ได้ว่า หญิงคนนั้นกำลังกระทำผิดหรือพยายามกระทำผิดหรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำความผิดมาแล้ว และจะหลบหนีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 78 พลตำรวจจึงไม่มีอำนาจจับหญิงนั้น โดยไม่มีหมายจับ กรณีเช่นนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่จับด้วยตนเองได โดยไม่ต้องมีหมายจับ เมื่อการจับกุมของพลตำรวจเช่นนี้ไม่มีกฎหมายสนับสนุนแล้ว การที่จำเลยฆ่าพลตำรวจผู้จับจึงไม่เรียกว่าฆ่าเจ้าพนักงานเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า พลตำรวจเคลื่อนกับพวกซึ่งเป็นพนักงานตำรวจ จะทำการจับกุมหญิงนครโสเภณี จำเลยทั้งสองได้สมคบกันต่อสู้ขัดขวางและยิงพลตำรวจเคลื่อนตายโดยเจตนา กับยิงพลตำรวจจำนงโดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไปถูกนายเชาว์มีบาดเจ็บทุพพลภาพ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๑๙, ๑๒๐, ๒๕๐, ๖๐ , ๖๓ ๒๔, ๗๑ ขอให้ริบปืนและกระสุนของกลางกับขอให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากคดีแดงที่ ๑๙๑/๒๔๙๘
จำเลยทั้งสองปฏิเสธ จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นคน ๆ เดียวกับจำเลยในคดีแดงที่ ๑๙๑/๒๔๙๘ จริง
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยทั้งสองทำผิดจริง พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๐, ๒๕๐, ๖๔ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๕๐ ซึ่งเป็นบทหนัก โดยให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง แต่คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๒ และคำให้การชั้นศาล ของจำเลยที่ ๑ – ๒ มีประโยชน์ในการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๕๙ คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๒๐ ปี ของกลางริบนับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากคดีแดงที่ ๑๙๑/๒๔๙๘
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่พลตำรวจเคลื่อนและพลตำรวจจำนง เข้าไปจับหญิงนครโสเภณี ที่บ้านจำเลยที่ ๑ นั้น ไม่มีหมายจับและไม่ใช่เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้าการกระทำของตำรวจทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายที่จำเลยทั้งสองเข้าขัดขวางย่อมเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิตน ไม่ผิดกฎหมายกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๒๐ แต่การที่จำเลยทั้งสองยิงพลตำรวจเคลื่อนและยิงพลตำรวจจำนงแต่ไม่ถูกเป็นการป้องกันสิทธิเกินสมควรแก่เหตุ จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้งสองผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๔๙, ๕๓ และผิดตามมาตรา ๒๔๙, ๖๐, ๕๓ ด้วย ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองมาตรา ๒๔๙, ๕๓ อันเป็นบทหนัก ให้จำคุกคนละ ๒๐ ปี คำให้การของจำเลยทั้งสองมีประโยชน์แก่ทางพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษตามมาตรา ๕๙ คนละ ๑ ใน ๓ คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันยิงพลตำรวจเคลื่อนและพลตำรวจจำนงจริง
ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงได้เพียงว่า เมื่อพลตำรวจจำนองและพลตำรวจจิตรเข้าไปทางหลังร้านจำเลยเห็นผู้หญิงกับผู้ชายคู่หนึ่งนั่งคุยในห้องซึ่งเปิดประตูอยู่ เช่นนี้ ยังเรียกไม่ได้ว่า หญิงคนนั้นกำลังกระทำผิดหรือพยายามกระทำผิดหรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำความผิดมาแล้ว และจะหลบหนีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๘ พลตำรวจจึงไม่มีอำนาจจับหญิงนั้น โดยไม่มีหมายจับ กรณีเช่นนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่จับด้วยตนเองได โดยไม่ต้องมีหมายจับ เมื่อการจับกุมของพลตำรวจเช่นนี้ไม่มีกฎหมายสนับสนุนแล้ว การที่จำเลยฆ่าพลตำรวจผู้จับจึงไม่เรียกว่าฆ่าเจ้าพนักงานเพราะเหตุที่กระทำการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๕๐ (๒)
ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาฟังต้องกันมีว่า จำเลยที่ ๑ มิใช่ห้ามไม่ให้พลตำรวจเคลื่อนจับหญิง เท่านั้น แต่จำเลยที่ ๑ ได้จับคอเสื้อพลตำรวจเคลื่อนลากขึ้นบันไดจะพาไปชั้นบน ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เช่นนี้ ไม่เกี่ยวกับการป้องกันสิทธิของตนแต่ประการใดเลย พลตำรวจเคลื่อนคงรู้ตัวว่าจำเลยที่ ๑ เช่นนี้ ไม่เกี่ยวกับการป้องกันสิทธิของตนแก้ประการใดเลย พลตำรวจเคลื่อนที่คงรู้ตัวว่าจำเลยที่ ๑ จะพาตัวขึ้นไปกระทำมิดีทำร้าย จึงไม่ยอมขึ้นไป จำเลยที่ ๑ ใช้กำลังลากพลตำรวจเคลื่อนขึ้นไปถึงที่พักบันไดก็เกิดการเกิดปล้ำกันขึ้น เพียงเท่านี้ก็เห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ ใช้กำลังทำร้ายพลตำรวจเคลื่อนเสียแล้ว ไม่ใช่เป็นการป้องกันสิทธิอยู่นั่นเอง ยิ่งจำเลยที่ ๑ ใช้ให้จำเลยที่ ๒ ยิงพลตำรวจเคลื่อนในเวลาต่อมา ยิ่งไม่มีทางจะอ้างว่าเป็นการป้องกันแต่อย่างใดเลย
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด ๒ กระทง คือ ฆ่าพลตำรวจเคลื่อนตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๔๙ กระทงหนึ่ง และพยายามฆ่าพลตำรวจจำนงตามมาตรา ๒๔๙, ๖๐ อีกกระทงหนึ่ง แต่เห็นสมควรลงโทษกระทงที่หนักเพียงกระทงเดียว คือ มาตรา ๒๔๙ การกระทำของจำเลยทั้งสองร้ายแรงมาก ควรวางโทษประหารชีวิต คำให้การจำเลยทั้งสองมีประโยชน์ แก่ทางพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษตามมาตรา ๕๙ คงจำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ ๒๐ ปี นอกจากที่แก้นี้ยืน

Share