คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เอกสารสัญญามีข้อความระบุว่า บริษัทด. ตกลงอนุญาตให้บริษัท ฟ. แต่ผู้เดียว เป็นผู้มีสิทธิเสนอฉายภาพยนตร์พิพาทในประเทศไทย มีกำหนดเวลา 5 ปี เมื่อหมดสัญญาผู้รับอนุญาตจะต้องส่งคืนก๊อปปี้ภาพยนตร์พิพาทแก่ผู้อนุญาตหรือทำลายพร้อมแสดงหลักฐานการทำลาย ดังนี้ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่บริษัท ด.เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาทอนุญาตให้บริษัทฟ.ใช้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาท ชั่วในระยะเวลาหนึ่งและเฉพาะในเขตพื้นที่ตามที่กำหนดในสัญญาเท่านั้น บริษัท ด. ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาทอยู่ ซึ่งบริษัท ด. อาจอนุญาตให้ผู้อื่นใดใช้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาทในอาณาเขตประเทศอื่นได้ดังนั้น การที่บริษัท ฟ. ได้ทำหนังสือรับรองลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาทว่าได้โอนขายลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นให้แก่บริษัท ก.และต่อมา บริษัท ก. ได้ทำหนังสือสัญญาให้โจทก์ร่วมเช่าฟิล์มภาพยนตร์พิพาทอีกทอดหนึ่ง คงทำให้โจทก์ร่วมได้สิทธิในภาพยนตร์พิพาทเพียงเท่าที่บริษัท ฟ. มีอยู่เท่านั้นเมื่อ บริษัท ฟ. เป็นเพียงผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิดีกว่าสิทธิของบริษัท ฟ.ที่มีอยู่แม้บริษัทด. ได้ทำใบรับรองลิขสิทธิ์ว่าได้โอนขายลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาทให้แก่บริษัท ก. และเมื่อวันทำสัญญาเช่าดังกล่าวบริษัท ก. ได้ทำหนังสือมอบหรือโอนลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ร่วมด้วยก็ตาม แต่ใบรับรองการโอนลิขสิทธิ์ทำขึ้นภายหลังหนังสือโอนลิขสิทธิ์ ดังนั้น ที่บริษัท ก.ออกหนังสือมอบหรือโอนลิขสิทธิ์ให้โจทก์ร่วมจึงไม่มีผลให้โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาทแต่อย่างใด เพราะขณะโอนบริษัทดังกล่าวยังมิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาท โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 4, 13, 24, 25, 27, 42, 44, 47, 49, 50 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526มาตรา 3, 4 ให้ภาพยนตร์เรื่องโคตรอันตรายคู่คู่ ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ภาพยนตร์ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า โจทก์ร่วมมีพยาน2 ปาก คือ นางสาวโรเบอร์ต้าหว่อง และนายจางซุงลุง มาเบิกความว่า บริษัทดีแอนด์บีฟิล์ม จำกัด ผู้สร้างภาพยนตร์พิพาทได้อนุญาตให้บริษัทฟิล์มไลน์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นผู้ใช้ลิขสิทธิ์ และบริษัทโกลเด้นทาวน์ฟิล์ม จำกัด ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากบริษัทฟิล์มไลน์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จึงเป็นการโอนลิขสิทธิ์กันโดยถูกต้องตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์สัญญาตามเอกสารหมาย จ.39 แล้ว เห็นว่า เอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่าบริษัทดีแอนด์บีฟิล์ม จำกัด ตกลงอนุญาตให้บริษัทฟิล์มไลน์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด แต่ผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิเสนอฉายภาพยนตร์พิพาทในประเทศไทย มีกำหนดเวลา 5 ปี เมื่อหมดสัญญาผู้รับอนุญาตจะต้องส่งคืนก๊อปปี้ภาพยนตร์พิพาทแก่ผู้อนุญาตหรือทำลายพร้อมแสดงหลักฐานการทำลายดังนี้ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่บริษัทดีแอนด์บีฟิล์ม จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาทอนุญาตให้บริษัทฟิล์มไลน์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดใช้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาทชั่วในระยะเวลาหนึ่งและเฉพาะในเขตพื้นที่ตามที่กำหนดในสัญญาเท่านั้น บริษัทดีแอนด์บีฟิล์ม จำกัดยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาทอยู่ ซึ่งบริษัทดีแอนด์บีฟิล์ม จำกัด อาจอนุญาตให้ผู้อื่นใดใช้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาทในอาณาเขตประเทศอื่นได้ ดังนั้น การที่บริษัทฟิล์มไลน์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ได้ทำหนังสือรับรองลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาทว่าได้โอนขายลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นให้แก่บริษัทโกลเด้นทาวน์ฟิล์ม จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.5 และต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2529 บริษัทโกลเด้นทาวน์ฟิล์ม จำกัดได้ทำหนังสือสัญญาให้โจทก์ร่วมเช่าฟิล์มภาพยนตร์พิพาทอีกทอดหนึ่งตามหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย ศ.1 คงทำให้โจทก์ร่วมได้สิทธิในภาพยนตร์พิพาทเพียงเท่าที่บริษัทฟิล์มไลน์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดมีอยู่เท่านั้น เมื่อบริษัทฟิล์มเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดเป็นเพียงผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิดีกว่าสิทธิของบริษัทฟิล์มไลน์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดที่มีอยู่ แม้จะฟังตามที่โจทก์ร่วมพยายามนำสืบมาว่า เมื่อวันที่23 กุมภาพันธ์ 2530 บริษัทดีแอนด์บีฟิล์ม จำกัด ได้ทำใบรับรองลิขสิทธิ์ว่าได้โอนขายลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาทให้แก่บริษัทโกลเด้นทาวน์ฟิล์ม จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.34 และเมื่อวันที่22 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาเช่าดังกล่าวบริษัทโกลเด้นทาวน์ฟิล์ม จำกัด ได้ทำหนังสือมอบหรือโอนลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.1 ด้วยก็ตามแต่เห็นได้ว่าใบรับรองการโอนลิขสิทธิ์เอกสารหมาย จ.34 ทำขึ้นภายหลังหนังสือโอนลิขสิทธิ์เอกสารหมาย จ.1 ดังนั้น ที่บริษัทโกลเด้นทาวน์ฟิล์มจำกัด ออกหนังสือมอบหรือโอนลิขสิทธิ์ให้โจทก์ร่วมจึงไม่มีผลให้โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาทแต่อย่างใดเพราะขณะโอนบริษัทดังกล่าวยังมิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้น คดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาทโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน

Share