คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีอาญาที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องเป็นเรื่องแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสของจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาและมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ปรากฏในสำนวนคดีแพ่งได้ เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยังอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายบ.ส่วนจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างของบุคคลทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันไปขอจดทะเบียนสมรสโดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่ามีเจตนาจะสมรสกันและต่างไม่เคยมีคู่สมรสมาก่อนจึงผิดไปจากเจตนาที่แท้จริง และไม่น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองยินยอมเป็นสามีภริยากันอันเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนายอำเภอเมืองอุบลราชธานีและเป็นนายทะเบียนครอบครัวอำเภอเมืองอุบลราชธานีตามกฎหมายมีหน้าที่ในการจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่าให้แก่ประชาชนในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี โจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานอัยการได้รับคำร้องขอจากโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2523 จำเลยทั้งสองได้ไปแจ้งเท็จต่อโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาจะสมรสกัน มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย โดยจำเลยทั้งสองได้อยู่กินเป็นสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี2519 มีบุตรด้วยกัน 2 คน โจทก์ที่ 1 หลงเชื่อ จึงได้จดทะเบียนสมรสให้จำเลยทั้งสอง ความจริงจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาสมรสกัน และไม่ยินยอมเป็นสามีภริยากัน เพราะจำเลยที่ 2 เป็นภริยาของนายเบ โต่ชวนคนญวนอพยพ ขอให้พิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ และเพิกถอนทะเบียนการสมรส
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนทะเบียนสมรสของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามทะเบียนสมรสเลขที่ 1067/23098 ลงวันที่29 สิงหาคม 2523
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในคดีอาญาต่อศาลแขวงอุบลราชธานีกล่าวหาว่าแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่ในคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสของจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ อันเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จแต่อย่างใด จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลฎีกาไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว และมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ได้
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาสมรสกันและยินยอมเป็นสามีภริยากันหรือไม่นั้น ได้ความจากนางอนงค์ วงศ์เมืองจันทร์และนางถนอมศรี เครือสิงห์ ครูโรงเรียนสามัคคีวิทยาคารซึ่งพักอยู่ที่บ้านพักครูในโรงเรียนว่า บ้านจำเลยที่ 2 ที่ใช้เป็นอู่ซ่อมรถยนต์ ห่างรั้วโรงเรียนเพียง 10 เมตร เห็นจำเลยที่ 2 อยู่ด้วยกันกับนายเบ มีบุตรด้วยกันและไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2514 จนปัจจุบัน ไม่เคยทะเลาะวิวาทกัน โดยจำเลยที่ 1 เป็นช่างเครื่องยนต์อยู่ในบ้านเดียวกันแต่ไม่เคยไปมากับจำเลยที่ 2เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นครูโรงเรียนสามัคคีวิทยาคารอยู่ใกล้บ้านพักจำเลยทั้งสองและนายเบ มีโอกาสใกล้ชิดและรู้เห็นความเป็นอยู่ของจำเลยทั้งสองกับนายเบ ทั้งโจทก์มีนายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ เจ้าพนักงานปกครอง 5 ซึ่งได้รับคำสั่งจากนายอำเภอเมืองอุบลราชธานีขณะนั้น ให้สืบสวนเรื่องชาวญวนอพยพเบิกความสนับสนุนว่า เคยสอบถามจำเลยที่ 2 กับนายเบ คนทั้งสองรับว่าเคยเป็นสามีภริยากันจนมีบุตรคือเด็กชายขัน ทำให้คำเบิกความของนางอนงค์และนางถนอมศรีมีน้ำหนักยิ่งขึ้น นอกจากนี้เมื่อพิเคราะห์คำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวของนายเบ ทะเบียนบ้านญวนอพยพและสูติบัตรญวนอพยพในคดีอาญาของศาลแขวงอุบลราชธานี ซึ่งทำเมื่อปี 2514 ปี 2520 และปี 2524 ตามลำดับ ก็ระบุว่าจำเลยที่ 2เป็นภริยานายเบโดยมีเด็กชายขันเป็นบุตร น่าเชื่อว่าในช่วงปี2514 ถึงปี 2524 นายเบยังอยู่กินกับจำเลยที่ 2 อย่างสามีภริยาโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันไปขอจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24สิงหาคม 2523 โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่ามีเจตนาจะสมรสกัน และต่างไม่เคยมีคู่สมรสมาก่อน จึงผิดจากเจตนาอันแท้จริง และไม่น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองยินยอมเป็นสามีภริยากัน จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496 เดิม1458 อันโจทก์มีสิทธิร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496เดิม (มาตรา 1495 ที่แก้ไขใหม่) ประกอบด้วยมาตรา 1497 เดิม(มาตรา 1496 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่) และพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 มาตรา 13 แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิกถอนทะเบียนการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุว่าการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ นั้น ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า การสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share