แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ฯ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83, 160 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 86 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บทหนัก จำคุกจำเลยที่ 1 สี่ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 บทหนัก จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 2 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 4 ที่ 5 คนละ 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ากระทำผิด 2 กรรม ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้ยางโดยไม่รับอนุญาตตาม พระราชบัญญัติป่าไม้อีกกระทงหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 ที่ 5 คนละ 1 ปี 6 เดือน ส่วนความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ สำหรับความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยทั้งห้าไม่เกินห้าปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ส่วนความผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมาย หลายบทจึงไม่กำหนดโทษฐานนี้ ศาลอุทธรณ์ ว่าเป็นความผิด 2 กรรม กำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าอีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นการแก้ไขมากจำเลยมีสิทธิฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในกระทงนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าร่วมกันตัดฟันไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ ๓๘ ท่อน โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ ตำแหน่งป่าไม้อำเภอ มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติป่าไม้ บังอาจปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นผู้ให้การสนับสนุน ในการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และขณะที่จำเลยที่ ๑ กระทำผิดคือเมื่อจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำผิดข้างต้นแล้ว จำเลยที่ ๑ พร้อมด้วยจำเลยที่ ๒ถึงที่ ๕ ได้ร่วมกันตรวจและใช้ตราของทางราชการซึ่งจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ใช้ตีประทับลงบนไม้ยางดังกล่าวทุกท่อนเพื่อเป็นเครื่องแสดงว่า จำเลยที่ ๑ ยึดไม้ดังกล่าวไว้ เป็นของกลาง ในการดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ โดยจำเลยที่ ๑ กระทำการดังกล่าวนอกเขตท้องที่รับผิดชอบซึ่งไม่มีอำนาจกระทำได้ ทั้งนี้เพื่อปกปิดการกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ กับพวก และช่วยเหลือให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ พ้นความผิด แล้วจำเลยที่ ๑ ได้มอบไม้ยางที่ตีตรายึดให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะพนักงานองค์การอุตสาหกรรม ป่าไม้เก็บรักษาไว้ และจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามหน้าที่ด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ได้ตรวจยึดไม้ของกลางดังกล่าวในเขตอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด แจ้งสถานที่ตรวจพบไม้ ขนาดและปริมาตร ไม้ผิดจากความจริง ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๑๑ , ๗๓ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๐, ๘๓, ๘๖ พระราชบัญญัติเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ และริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ รับสารภาพฐานร่วมกันทำไม้ นอกนั้นปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดตาม ไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๑๑ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๓ สำหรับจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๐ ด้วย ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำหลายอย่าง แต่มีเจตนาอย่างเดียวคือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ เป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๕๗ ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยที่ ๑ สี่ปี จำคุกจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๖ คนละ ๒ ปี ๘ เดือน จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ให้การรับสารภาพ ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ ๑ ปี ๔ เดือน ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำผิด ๒ กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๑๑ , ๗๓ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ ๓ ปี จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ให้การรับสารภาพ ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ ๑ ปี ๖ เดือน รวมโทษอีกกระทงหนึ่งซึ่งศาลชั้นต้นลงโทษไว้แล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ ๑ เจ็ดปี จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ คนละ ๕ ปี ๘ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ คนละ ๒ ปี ๑๐ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับข้อหาฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สำหรับจำเลยที่ ๑ และ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ฐานสนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง ๕ ไม่เกิน ๕ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ข้อหานี้จึงต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามมาตรา ๒๑๘ แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนข้อหาร่วมกันตัดฟันไม้ยางศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้ามร่วมกันทำผิดแต่เห็นว่า เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทจึงไม่กำหนดโทษฐานนี้ แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นความผิด ๒ กรรม กำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าอีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นการแก้ไขมาก จำเลยมีสิทธิฎีกาข้อปัญหาข้อเท็จจริงข้อนี้ได้
วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๔ที่ ๕ ให้การรับสารภาพในข้อหานี้ และฟังว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันตัดฟันไม้ของกลางจริง ส่วนจำเลยที่ ๑ พยานโจทก์ไม่พอ ฟังได้ว่าได้ร่วมตัดฟันไม้ของกลางกับจำเลยอื่นด้วย ที่จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษให้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ ในข้อหาร่วมกันตัดฟันไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์