คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ร้านสหกรณ์โจทก์ดำเนินการโดยคณะกรรมการได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการร้านมีสัญญาว่าถ้า โจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ จำเลยที่ 1 ยอม รับผิดชอบต่อมาผู้ตรวจบัญชี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ตรวจพบว่าสินค้าของโจทก์ ขาดบัญชี คณะกรรมการของโจทก์ได้ประชุมเมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2526 เห็นว่าการตรวจสอบดังกล่าวถูกต้อง แต่จำเลยที่ 1 จะให้ผู้ตรวจบัญชีเอกชนตรวจสอบใหม่ และมีการประชุมคณะกรรมการอีกในวันที่ 4 และ 17 ธันวาคม 2526 โดยการประชุม2 ครั้งหลัง ปัญหาตัวผู้จะต้องรับผิดต่อสินค้าขาดบัญชีหาได้พิจารณากันไม่ แสดงว่าคณะกรรมการของโจทก์ทราบจากสัญญาและข้อบังคับของโจทก์ตั้งแต่ต้น ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดค่าสินค้าที่ขาดบัญชีต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินค้าขาดบัญชีตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2526 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17ธันวาคม 2526 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 หนังสือของจำเลยที่ 1 มีข้อความยอมรับว่ามีสินค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ขาดบัญชี หาได้มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์และยินยอมจะใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชีนั้นต่อโจทก์ไม่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ หนังสือของ ป. ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ทำถึงโจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 มอบให้ ป. เป็นตัวแทนในการตกลงประนอมหนี้กับโจทก์ เมื่อเป็นการกล่าวอ้างของ ป. เองโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 มอบให้ ป. ดำเนินการดังกล่าวจึงรับฟังเอกสารมายันจำเลยที่ 1 ไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านค้าของโจทก์ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลตรวจสอบหรือทำบัญชีสินค้าให้ถูกต้อง ไม่ระมัดระวังควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานในร้านค้าของโจทก์ให้ถี่ถ้วนทำให้สินค้าของโจทก์หายไปเป็นจำนวนมาก โจทก์ทราบว่าสินค้าขาดบัญชีและรู้ตัวผู้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม2526 โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นผู้ทำสินค้าขาดบัญชี และทำหนังสือรับรองจำนวนสินค้าขาดบัญชีในราคาทุนแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,251,653.74 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำให้สินค้าของโจทก์ขาดบัญชีจำเลยที่ 1 เพียงแต่ลงชื่อรับทราบผลการตรวจสอบสินค้าของพนักงานบัญชีเท่านั้น หาได้ยอมรับว่าเป็นผู้ทำให้สินค้าขาดบัญชีและรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ไม่ โจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคดีโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมไม่มีผู้ใดเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางเจือพรรณ เพชรวิเศษ ทายาทและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่ทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์และดำเนินการโดยคณะกรรมการตามใบสำคัญรับจดทะเบียนสหกรณ์และข้อบังคับเอกสารหมาย จ.1 และ ล.1 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านค้าของโจทก์มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2525 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2526 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 เมื่อครบกำหนดสัญญา ผู้สอบบัญชีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตรวจพบว่าในรอบปีที่จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดังกล่าวมีสินค้าของโจทก์ขาดบัญชี และได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบให้ประธานร้านค้าของโจทก์ทราบกับให้ดำเนินการแก้ไข ตามเอกสารหมาย ล.2 นายเมธี ส.ศรีสุภาพประธานร้านค้าของโจทก์ได้สั่งกานให้คณะกรรมการร้านค้าของโจทก์ประชุมปรึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน2526 จากนั้นคณะกรรมการร้านค้าของโจทก์ได้ประชุมพิจารณากันต่อมาในวันที่ 4 และวันที่ 17 ธันวาคม 2526 อีกสองครั้ง ในการประชุมครั้งที่สามเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับรองจำนวนสินค้าขาดบัญชีคิดตามราคาทุนเป็นเงิน 846,733.97 บาทตามเอกสารหมาย จ.8
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เพิ่งจะรู้โดยแน่นอนในการประชุมของคณะกรรมการร้านค้าของโจทก์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2526ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชีต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับรองจำนวนสินค้าขาดบัญชีตามเอกสารหมาย จ.8 ส่วนการประชุมของคณะกรรมการร้านค้าของโจทก์ก่อนหน้านั้นทั้งสองครั้ง เป็นการประชุมพิจารณาเพื่อหาจำนวนสินค้าที่ขาดบัญชีและตัวผู้ที่จะต้องรับผิดโดยแน่นอน กับเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มีสินค้าขาดบัญชีเกิดขึ้นเท่านั้น โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2527 ยังไม่พ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่รู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินค้าขาดบัญชีต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้นเห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมายจ.4 ข้อ 4 ได้กำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างทำหน้าที่ผู้จัดการร้านค้าของโจทก์ไว้แล้วโดยชัดแจ้งว่า ถ้าโจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นไม่น่าจะด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตามจำเลยที่ 1 จะยอมรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังมีข้อบังคับของโจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 80(8) กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการร้านค้าของโจทก์ที่จะต้องตรวจตราดูแลสินค้าของโจทก์ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัยอีกด้วย ปัยหาที่คณะกรรมการร้านค้าของโจทก์พิจารณากันในการประชุมทั้งสามครั้งเท่าที่ปรากฏจากคำเบิกความของนายเมธีส.ศรีสุภาพ ประธานร้านค้าของโจทก์ คงมีแต่เรื่องจำนวนสินค้าขาดบัญชีประการเดียวเท่านั้น เริ่มแต่การประชุมครั้งแรกซึ่งคณะกรรมการร้านค้าของโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าการตรวจสอบของผู้ตรวจบัญชี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ถูกต้อง ฝ่ายจำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่ถูกต้องจะขอให้มีการตรวจสอบใหม่โดยผู้ตรวจบัญชีเอกชนซึ่งจำเลยที่ 1 จะจัดกามาเอง ปัญหาเกี่ยวกับตัวผู้จะพึงต้องรับผิดใช้ค่าสินค้าขาดบัญชีหาได้พิจารณากันไม่ เหตุที่ไม่มีการพิจารณากันเลยเช่นนี้ย่อมบ่งชี้ให้รับฟังได้ว่าเป็นเพราะคณะกรรมการร้านค้าของโจทก์ทราบจากสัญญาและข้อบังคับของโจทก์อยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้รับผิดใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชี ดังนี้จึงต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินค้าขาดบัญชีตั้งแต่วันที่มีการประชุมคณะกรรมการร้านค้าของโจทก์ครั้งแรก คือตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2526 ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2526 ตามเอกสารหมาย จ.8 และมอบอำนาจให้นางประพิศภรรยามีหนังสือขอประนอมหนี้ตามเอกสารหมาย จ.13 ถึงโจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว มีข้อความสำคัญแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่ามีสินค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ขาดบัญชีคิดตามราคาทุนเป็นเงิน846,773.97 บาท เท่านั้น หามีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์และยินยอมจะใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชีนั้นต่อโจทก์ไม่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับสภาพต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องด้วยนทำหนังสือรับสภาพให้ อันจะเป็นเหตุให้อายุความฟ้องคดีของโจทก์สะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 ส่วนเอกสารหมาย จ.13 มีนายปรพพิศเป็นผู้ทำแม้จะมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 มอบให้เป็นตัวแทนในการตกลง ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างของนางประพิศ เมื่อไม่ปรากฏหลักฐายว่าจำเลยที่ 1มอบหมายให้นางประพิศดำเนินการเช่นนั้น จึงรับฟังเอกสารหมาย จ.13มายันจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เมื่อฟังได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2526และไม่มีเหตุที่จะทำให้อายุความฟ้องคดีของโจทก์สะดุดหยุดลง โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2527 จึงพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448วรรคแรก…”
พิพากษายืน.

Share