คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1529/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม เจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ ไว้ หากจำเลยจะมีพินัยกรรมของเจ้ามรดก พินัยกรรมก็ปลอม เมื่อจำเลยยื่นคำให้การ ได้เสนอสำเนาพินัยกรรมมาท้ายคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำเลยส่งต้นฉบับต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานเพื่อโจทก์จะได้ตรวจดู โจทก์แถลงว่า ต้องสอบลายมือในพินัยกรรมจากผู้รู้ลายมือของผู้ทำพินัยกรรม แล้วคู่ความเลื่อนวันชี้สองสถานไป พอถึงวันชี้สองสถานครั้งที่ 2 คู่ความแถลงต่อศาลว่า คู่ความตกลงกันสืบประเด็นเดียวว่า พินัยกรรมตามที่จำเลยอ้างเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนี้ ที่ว่า “พินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” ตามที่คู่ความตกลงกันหรือท้ากันสืบนี้ หมายความถึงประเด็นที่คู่ความโต้เถียงกันก่อนว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมหรือไม่นั่นเอง ถ้านายอ่อนได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้จริงโจทก์ก็แพ้คดีตามคำท้า แต่ถ้านายอ่อนไม่ได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ จำเลยก็แพ้คดีตามคำท้า ดังนั้นที่คู่ความนำสืบพยานหลักฐานในประเด็นที่ว่า นายอ่อนเจ้ามรดกทำพินัยกรรมหมายล.1หรือไม่ จึงอยู่ในประเด็นคำท้าที่คู่ความพิพาทโต้เถียงกัน หาใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นคำท้าไม่ และที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานของคู่ความในประเด็นข้อนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นคำท้า มิใช่นอกประเด็นคำท้าเช่นเดียวกันการที่คู่ความแถลงท้ากันศาลจดประเด็นคำท้า ใช้คำว่า”พินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นั้น ไม่ทำให้ประเด็นคำท้าที่คู่ความพิพาทโต้เถียงกันมาก่อนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น เพราะคำว่า “ชอบด้วยกฎหมาย”นี้ มีความหมายกว้างมาก การใดที่กฎหมายห้ามมิให้กระทำแต่ผู้ใดฝ่าฝืนไปกระทำการนั้นเข้า ต้องถือว่าการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1656 ได้บัญญัติถึงแบบของพินัยกรรมธรรมดาไว้ว่าผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ถ้าผู้อื่นปลอมลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมลงในพินัยกรรม ย่อมเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย พินัยกรรมถือว่าทำขึ้นผิดแบบ จึงเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่พิเคราะห์ดูแต่ตัวพินัยกรรมอย่างเดียว โดยไม่ฟังคำพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ จะไม่มีทางทราบได้เลยว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมนั้นปลอมหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายอ่อนนางอุ่น นางอุ่นตาย นายอ่อนบิดาได้จำเลยเป็นภรรยาไม่ได้จดทะเบียน นายอ่อนมีทรัพย์สินร่วมกับจำเลยคือที่นา ฯลฯ นายอ่อนถึงแก่ความตาย โจทก์เรียกร้องให้จำเลยส่งทรัพย์ จำเลยไม่ยอมส่ง ขอให้จำเลยส่งทรัพย์ ฯลฯ

จำเลยให้การว่า ทรัพย์ตามรายการที่โจทก์ฟ้อง เป็นทรัพย์ที่จำเลยและนายอ่อนหาได้ด้วยกัน นายอ่อนทำพินัยกรรมยกให้จำเลยคนเดียว ฯลฯ

ชั้นพิจารณา คู่ความตกลงกันสืบพยานประเด็นเดียวว่า พินัยกรรมตามที่จำเลยอ้างนั้น เป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยอมแพ้ ถ้าพินัยกรรมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยอมแพ้ ยอมยกทรัพย์อันดับ 1 ถึง 5 ให้โจทก์ โดยสละข้อต่อสู้อื่นใดทั้งสิ้น

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ไม่เชื่อว่าลายเซ็นชื่อนายอ่อนในพินัยกรรมเป็นลายเซ็นชื่อของนายอ่อนที่แท้จริง พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยแพ้คดีตามคำท้า พิพากษาให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ตามฟ้องนอกจากทรัพย์อันดับ 5 และ 6 ให้แก่โจทก์ หากทรัพย์รายการใดไม่สามารถส่งมอบได้ ก็ให้จำเลยชำระราคาจนครบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามที่คู่ความนำสืบก็มิได้นำสืบว่าพินัยกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร กลับนำสืบโต้เถียงกันว่านายอ่อนเจ้ามรดกได้ทำหรือไม่ได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้น จึงเป็นการนำสืบนอกคำท้า พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่า ก่อนนายอ่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรมนั้น นายอ่อนมิได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ ไว้ หากจำเลยจะมีพินัยกรรมของนายอ่อนมาอ้างพินัยกรรมนั้นก็เป็นพินัยกรรมปลอมที่จำเลยกับพวกสมคบกันปลอมขึ้นต่อมาเมื่อจำเลยยื่นคำให้การ จำเลยได้เสนอสำเนาพินัยกรรมมาท้ายคำให้การ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้จำเลยส่งต้นฉบับพินัยกรรมต่อศาลก่อนวันนัดชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อโจทก์จะได้ตรวจดูว่าเป็นพินัยกรรมปลอมตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องหรือไม่ และในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์ได้ตรวจดูต้นฉบับพินัยกรรมแล้ว โจทก์แถลงต่อศาลว่าต้องสอบลายมือในพินัยกรรมจากผู้รู้ลายมือของผู้เขียนพินัยกรรม(น่าจะเป็นผู้ทำพินัยกรรม) แล้วคู่ความตกลงเลื่อนวันนัดชี้สองสถานไป พอถึงวันนัดชี้สองสถานครั้งที่ 2 วันที่ 26 มิถุนายน 2507 คู่ความได้แถลงต่อศาลว่า คู่ความตกลงกันสืบประเด็นเดียวว่าพินัยกรรมตามจำเลยอ้างมานั้นเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า คำว่า “พินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” ตามที่คู่ความตกลงกันหรือท้ากันสืบนี้ หมายความถึงประเด็นที่คู่ความโต้เถียงกันก่อนว่านายอ่อนเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมหมาย ล.1 หรือไม่ นั่นเอง ถ้านายอ่อนได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้จริง โจทก์ก็แพ้คดีตามคำท้า แต่ถ้านายอ่อนไม่ได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้จำเลยก็แพ้คดีตามคำท้า ดังนั้น ที่คู่ความนำสืบพยานหลักฐานในประเด็นที่ว่านายอ่อนเจ้ามรดกทำพินัยกรรมหมาย ล.1 ฉบับนี้หรือไม่ จึงอยู่ในประเด็นคำท้าที่คู่ความพิพาทโต้เถียงกัน หาใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นคำท้าไม่ และที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานของคู่ความในประเด็นข้อนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นคำท้า มิใช่นอกประเด็นคำท้าเช่นเดียวกัน การที่คู่ความแถลงท้ากัน ศาลจดประเด็นคำท้าใช้คำว่า “พินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นั้น ไม่ทำให้ประเด็นคำท้าที่คู่ความพิพาทโต้เถียงกันมาก่อนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น เพราะคำว่า “ชอบด้วยกฎหมาย” นี้ มีความหมายกว้างมากการใดที่กฎหมายห้ามมิให้กระทำ แต่ผู้ใดฝ่าฝืนไปกระทำการนั้นเข้าต้องถือว่าการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 ได้บัญญัติถึงแบบของพินัยกรรมธรรมดาไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ถ้าผู้อื่นปลอมลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมลงในพินัยกรรม ย่อมเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย พินัยกรรมนั้นถือว่าทำขึ้นผิดแบบ จึงเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่พิเคราะห์ดูแต่ตัวพินัยกรรมอย่างเดียวโดยไม่ฟังคำพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ จะไม่มีทางทราบได้เลยว่า ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมนั้นปลอมหรือไม่

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าคู่ความนำสืบนอกประเด็นคำท้า และว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดพยานหลักฐานโจทก์จำเลยนอกประเด็นคำท้า รวมทั้งที่ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แต่ตัวพินัยกรรมอย่างเดียว แล้ววินิจฉัยว่าไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าพินัยกรรมนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบในประเด็นที่ว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share