คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ยาเม็ดแก้ปวดท้องที่ใช้เครื่องหมายการค้าตราตกเบ็ด โดยมีรูปคนนั่งตกเบ็ดอยู่ภายในรูปอาร์ม ซึ่งโจทก์ถือสิทธิอยู่โดยการรับโอนมาจาก บ. นั้น โจทก์ได้ยินยอมและทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้มารดาของจำเลยมีสิทธิใช้ได้โดยให้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าขึ้นใหม่ต่างหาก โดยจะต้องระบุชื่อมารดาของจำเลยให้เห็นชัดเจนในเครื่องหมายการค้าใหม่ นั้น และกล่องที่ใช้บรรจุยาจะต้องให้มีสีต่างกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วย มารดาของจำเลยจึงมีสิทธิใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้โดยชอบด้วยพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พุทธศักราช2474 ทั้งยังมีสิทธิจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้านี้ให้แก่จำเลยทั้งสองด้วย จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านี้ได้โดยชอบ
การที่จำเลยเพิ่มข้อความบนกล่องบรรจุยา ฉลากยา และสิ่งพิมพ์ที่ใช้โฆษณาสินค้ายาที่จำเลยผลิตจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยว่า ‘ขนานแท้’ ก็ดี ‘ห้างเก่า’ก็ดี และ ‘ระวังยาเลียนแบบ’ ก็ดี เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมหาเป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใดไม่ส่วนการที่โจทก์ได้ส่งตัวแทนไปบอกร้านขายยาทั่วไปรวมทั้งลูกค้าของจำเลยว่ายาของจำเลยเป็นของปลอมขายไม่ได้หากขายจะถูกจับฐานขายยาปลอม และถ้าจำเลยต้องแพ้คดีก็ไม่มีสิทธิขายยาที่ผลิตออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทำให้ลูกค้าไม่ยอมซื้อยาของจำเลยเพิ่มเติมและที่ซื้อไว้แล้วก็ไม่ยอมชำระราคา หรือรอให้คดีเสร็จเสียก่อนจึงจะชำระราคานั้น ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 เป็นการละเมิดต่อจำเลย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวน 10,000 บาทแก่จำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าการที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าทะเบียนที่ 47545 นั้น เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ได้พิจารณาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.12 และสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.13 โดยตลอดแล้ว ฟังได้ว่ายาเม็ดแก้ปวดท้องที่ใช้เครื่องหมายการค้าตราตกเบ็ดโดยมีรูปคนนั่งตกเบ็ดอยู่ภายในรูปอาร์ม ซึ่งโจทก์คดีนี้ถือสิทธิอยู่โดยการรับโอนมาจากนายบักลิ้ม หรือมกลิ้ม แซ่ลี้ นั้น โจทก์ยอมให้นางลีเอี้ยวสีมารดาจำเลยทั้งสอง มีสิทธิใช้ได้โดยให้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าขึ้นใหม่ต่างหาก และเพื่อมิให้เหมือนกับของโจทก์เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนขึ้นใหม่นั้นจะต้องระบุชื่อนางลีเอี้ยวสีให้เห็นชัดเจนในเครื่องหมายการค้านั้น นอกจากนี้กล่องที่ใช้บรรจุยาที่ผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะต้องให้มีสีต่างกันกับของโจทก์ด้วย อาศัยความยินยอมของโจทก์ดังกล่าวนางลีเอี้ยวสีจึงได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราตกเบ็ดโดยมีรูปคนนั่งตกเบ็ดอยู่ภายในรูปอาร์ม และมีคำว่า “ลีเอี้ยวสี” ในรูปอาร์มด้วย ปรากฏตามรูปเครื่องหมายการค้าที่นางลีเอี้ยวสียื่นขอต่อเจ้าหน้าที่ เอกสารหมาย จ.15 แต่เนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.13 ได้กำหนดให้ใช้กล่องที่บรรจุยาภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนใหม่ให้มีสีต่างกับของโจทก์ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอจดทะเบียนจึงได้ทักท้วงและขอรูปกล่องบรรจุยาตามตัวอย่างท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความจากนางลีเอี้ยวสี และให้จัดการแก้ไขข้อทักท้วงอื่น ๆ ด้วย ซึ่งนางลีเอี้ยวสีได้ปฏิบัติตามข้อทักท้วงของเจ้าหน้าที่ ปรากฏตามคำร้องเอกสารหมาย จ.20 โดยมีรูปกล่องบรรจุยาภายใต้เครื่องหมายการค้าตราตกเบ็ดเป็นรูปคนนั่งตกเบ็ดในรูปอาร์มซึ่งมีคำว่า “ลีเอี้ยวสี”อยู่ภายในรูปอาร์เหนือคนนั่งตกเบ็ด ใช้สำหรับบรรจุยาแก้ปวดท้องของห้างขายยาลี้บ้วนซัว เป็นรูปเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนใหม่ของตน และขอจดทะเบียนจำกัดสีรูปเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสีขาว สีน้ำตาลและสีเหลืองอมสีส้ม เจ้าหน้าที่จึงได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าลักษณะดังกล่าวให้แก่นางลีเอี้ยวสีเป็นเครื่องหมายการค้าทะเบียนที่ 47545เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 และนางลีเอี้ยวสีได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้ตลอดมาจนวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ก็ยังได้จดทะเบียนต่ออายุเครื่องหมายการค้านี้อีก ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 ครั้นวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2520 นางลีเอี้ยวสีจึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้านี้ให้แก่จำเลยทั้งสองซึ่งจำเลยทั้งสองก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทะเบียนที่ 47545 ผลิตยาและจำหน่ายยาแก้ปวดท้องตราตกเบ็ดในนามห้างขายยาลี้บ้วนซัวตลอดมาโดยโจทก์มิได้คัดค้านแต่ประการใด เห็นว่าการที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายินยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 47545ให้แก่นางลีเอี้ยวสีนั้น ย่อมแสดงว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ดำเนินการไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และอนุญาตให้นางลีเอี้ยวสีใช้สีกล่องตามที่ขอจดทะเบียนได้ก็คงพิจารณาแล้วเห็นว่าสีของกล่องที่อนุญาตให้นางลีเอี้ยวสีใช้ดังกล่าวนั้นแตกต่างกับสีกล่องของโจทก์ ในกรณีเช่นนี้แม้เครื่องหมายการค้าที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนให้แก่นางลีเอี้ยวสีจะคล้ายหรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าตราตกเบ็ดทะเบียนที่ 12791 ของโจทก์สักเพียงใดก็ตาม แต่การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 47545 ก็ได้กระทำขึ้นด้วยความยินยอมของโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและภายใต้ความควบคุมของเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้าที่จะปฏิบัติให้เป็นไปโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 เหตุนี้จึงถือได้ว่านางลีเอี้ยวสีได้ใช้สิทธิโดยสุจริตในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้านี้แต่ผู้เดียว แม้ต่อมาจะปรากฏว่านางลีเอี้ยวสีจดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจแล้วก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าหลังจากจดทะเบียนเลิกแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ดำเนินการตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 เพื่อเพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนที่ 47545 ของนางลีเอี้ยวสีแต่อย่างใดไม่ฉะนั้นตราบใดที่ยังมิได้ถูกเพิกถอน นางลีเอี้ยวสีย่อมมีสิทธิโอนเครื่องหมายการค้าของตนให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนั้นการรับโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองจากนางลีเอี้ยวสีตามเอกสารหมาย จ.11 แผ่นที่ 3 และ 4 จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้าทะเบียนที่ 12781 มาจากนายบักลิ้ม หรือมกลิ้ม แซ่ลี้จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าทะเบียนที่ 47545 ได้โดยชอบส่วนการที่จำเลยเพิ่มข้อความบนกล่องบรรจุยา ฉลากยาประจำกล่อง หรือทำการโฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ในการเสนอขายยาที่จำเลยผลิตออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวโดยใช้คำว่า “ขนานแท้” ก็ดี “ห้างเก่า” ก็ดี “ระวังยาเลียนแบบ”ก็ดี เห็นว่า เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรม หาเป็นผลที่มีแต่ให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 แต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใดคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกา

ข้อที่โจทก์ฎีกาในปัญหาที่ว่า การกระทำของโจทก์ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสองแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่น่าจะรับผิดตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำแถลงของจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2524 และคำรับของโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2524 ว่า โจทก์ได้ส่งตัวแทนไปบอกร้านขายยาทั่วไปรวมทั้งลูกค้าของจำเลยว่ายาของโจทก์เป็นของแท้ ยาของจำเลยทั้งสองเป็นของปลอม ขายไม่ได้หากขายจะถูกจับฐานขายยาปลอม และถ้าจำเลยต้องแพ้คดี ก็ไม่มีสิทธิขายยาที่ผลิตออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองดังกล่าวทำให้ลูกค้าไม่ยอมซื้อยาของจำเลยทั้งสองเพิ่มเติม และที่ซื้อไว้แล้วก็ไม่ยอมชำระราคา หรือรอให้คดีเสร็จก่อนจึงจะชำระราคา ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวมาเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายจึงเป็นการละเมิดต่อจำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองเพียง 10,000 บาท นั้นชอบแล้ว

โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์เพิ่งพบและทราบว่าจำเลยในคดีนี้ได้นำรูปเครื่องหมายการค้ารูปกล่องยาของจำเลยที่ใช้อยู่ในขณะนี้และรูปเครื่องหมายการค้า “ตราตกเบ็ด” ที่มีรูปชายนั่งตกเบ็ดในรูปโล่ห์ มีภาษาไทยว่า “ตราตกเบ็ด” และมีภาษาจีนอ่านว่า “ลีเอี้ยวสี” ที่จำเลยใช้อยู่ในสลากสินค้าและฉลากปิดขวดสินค้าไปขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2523และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าว เพราะต้องห้ามตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2504 ปรากฏตามเอกสารคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 111809 และ 111810 ที่นายทะเบียนรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะนำไปประกอบการพิจารณาประเด็นสำคัญในคดีนี้ ที่จะให้โจทก์ชนะคดีได้นั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า เอกสารคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 11809 และ 11810 ที่โจทก์อ้างส่งศาลในชั้นฎีกานี้ เป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี และเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวไว้ในฟ้องแต่แรก จึงมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่อย่างใดต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาทแทนจำเลยทั้งสอง

Share