คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

วันเกิดเหตุเป็นวันสงกรานต์ พ. เรียกผู้เสียหายให้ดื่มสุรา จำเลยเดินมายืนข้างหน้าผู้เสียหาย ช. ยืนข้างหลัง จำเลยขว้างแก้วที่วางอยู่บนโต๊ะใส่หน้าผู้เสียหายถูกหน้าผากเลือดไหล ผู้เสียหายลุกขึ้นยืนจะป้องกันตัว ช. กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายจากด้านหลังขาดติดมือ จากนั้นจำเลยและ ช. ได้รุมชกต่อยผู้เสียหาย ง. และ ด. ใช้ไม้ฟืนยาว 1 เมตร คนละท่อนตีท้ายทอยผู้เสียหายแตก การกระทำของจำเลยน่าจะเกิดจากความคึกคะนองเมื่อได้ดื่มสุราเข้าไป และเป็นการพาลหาเรื่องมากกว่าจะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย การที่ ช. กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายจากด้านหลังขาดติดมือไป เป็นการฉวยโอกาสเป็นส่วนตัวลำพังเพียงคนเดียว จำเลยไม่ได้สมรู้ร่วมคิดด้วย จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกชิงทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2541 จำเลยกับพวกอีก 1 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันชิงสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคา 12,000 บาท ของนายสาธิ ทองนาค ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในการชิงทรัพย์ดังกล่าวจำเลยกับพวกต่อยและเตะผู้เสียหายหลายครั้ง และใช้แก้วขว้างถูกหน้าผากผู้เสียหายเป็นบาดแผลแตกแล้วได้กระชากสร้อยคอดังกล่าวไปโดยแรง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การชิงทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม หลังจากจำเลยกับพวกกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันใช้ไม้ฟืนขนาดยาวประมาณ 1 เมตร 2 ท่อน เป็นอาวุธตีและร่วมกันชกต่อยผู้เสียหายหลายครั้ง ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกบวมแดงที่ร่างกายหลายแห่ง เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 295, 339 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาหลักทรัพย์เป็นเงิน 12,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม (ที่ถูกมาตรา 339 (1) (5) วรรคสาม), 295, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันชิงทรัพย์ จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 12,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2541 เวลากลางคืน นายสาธิ ทองนาค ผู้เสียหาย ถูกจำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตามสำเนาผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารหมาย จ.3 และผู้เสียหายอ้างว่าสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ของผู้เสียหายถูกคนร้ายกระชากไป ปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าในวันเกิดเหตุผู้เสียหายสวมสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น มาด้วยหรือไม่ โจทก์มีนายสาธิ ทองนาค ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าในวันเกิดเหตุขณะที่ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างผ่านหน้าร้านหมอยีนส์ที่เกิดเหตุ นายพัฒนาหรือเลน แรกคำนวณ เรียกผู้เสียหายให้ดื่มสุรา ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์พ่วงข้างและร่วมดื่มสุรา จำเลยเดินมายืนข้างหน้าผู้เสียหาย นายเดชาหรือเดียร์ เยี่ยงกุลเชาว์ ยืนข้างหลัง จำเลยหยิบแก้วที่วางบนโต๊ะขว้างใส่หน้าผู้เสียหาย ถูกเหนือหน้าผากเลือดไหล ผู้เสียหายลุกขึ้นยืนจะป้องกันตัว นายเดชาหรือเดียร์กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายจากด้านหลังขาดติดมือไป จากนั้นจำเลยและนายเดชาหรือเดียร์ได้รุมชกต่อยผู้เสียหาย กับนายช้างและนายเด็ดใช้ไม้ฟืนยาว 1 เมตร คนละท่อนตีท้ายทอยผู้เสียหายแตก เมื่อผู้เสียหายร้องให้นายผิน มโนสาร ช่วย จำเลยกับพวกจึงหยุด ผู้เสียหายไปทำแผลที่โรงพยาบาลมหาราชแล้วไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยและนายเดชาหรือเดียร์กับพวกร่วมกันชิงทรัพย์และทำร้ายร่างกาย เมื่อจับกุมจำเลยมาได้พันตำรวจโทประกฤษ สุคันธกุล พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยว่า ร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ของผู้เสียหายถูกคนร้ายกระชากเอาไป และพันตำรวจโทประกฤษพนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่าผู้เสียหายมาแจ้งความว่าถูกคนร้ายกระชากสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ไปหลังจากที่จับจำเลยมาได้แล้วจึงแจ้งข้อหาจำเลยว่าร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ประกอบกับมีแผลบวมแดงที่ต้นคอขวา ตามสำเนาผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารหมาย จ.3 น่าเชื่อว่าเกิดจากการกระชากสร้อยคอทองคำไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายสวมสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ยืนยันว่าผู้เสียหายถูกกระชากสร้อยคอทองคำที่หน้าร้านหมอยีนส์แตกต่างกับบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ.5 ที่ระบุว่าผู้เสียหายถูกกระชากสร้อยคอทองคำหลังจากวิ่งหนีจากหน้าร้านหมอยีนส์ไปประมาณ 20 เมตร และข้อเท็จจริงที่ต่างกันนั้นเป็นเพียงพลความไม่อาจนำมาหักล้างพยานโจทก์ได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ จึงเป็นข้อพิรุธนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นายพัฒนา แรกคำนวณ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุไม่ได้สังเกตว่าผู้เสียหายสวมสร้อยคอทองคำมาหรือไม่ และพยานปากอื่นอาจไม่เห็นผู้เสียหายสวมสร้อยคอทองคำ เนื่องจากผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านทนายความจำเลยว่าในวันเกิดเหตุสวมเสื้อยืดคอปกแขนสั้น คำพยานโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นพิรุธ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ของผู้เสียหายไปหรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยกับพวกมีพฤติการณ์ในการสมรู้ร่วมคิดกันมาก่อนว่าจำเลยกับพวกจะทำการชิงทรัพย์ผู้เสียหาย เพียงแต่ในวันเกิดเหตุนายพัฒนาหรือเลนเรียกผู้เสียหายให้ดื่มสุรา ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์พ่วงข้างและร่วมดื่มสุรา จำเลยเดินมายืนข้างหน้าผู้เสียหาย นายเดชาหรือเดียร์ยืนข้างหลัง จำเลยหยิบแก้วที่วางบนโต๊ะขว้างใส่หน้าถูกเหนือหน้าผากเลือดไหล ผู้เสียหายลุกขึ้นยืนจะป้องกันตัว นายเดชาหรือเดียร์กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายจากด้านหลังขาดติดมือไป จากนั้นจำเลยและนายเดชาหรือเดียร์ได้รุมชกต่อยผู้เสียหาย กับนายช้างและนายเด็ดใช้ไม้ฟืนยาว 1 เมตร คนละท่อนตีท้ายทอยผู้เสียหายแตก ซึ่งลักษณะการกระทำของจำเลยน่าจะเกิดจากความคึกคะนองเมื่อได้ดื่มสุราเข้าไป เพราะในวันเกิดเหตุเป็นวันสงกรานต์มีการเล่นสาดน้ำกันตามประเพณีและเป็นการพาลหาเรื่องมากว่าจะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ผู้เสียหาย การที่นายเดชาหรือเดียร์กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายจากด้านหลังขาดติดมือไป เป็นลักษณะของการฉวยโอกาสเป็นส่วนตัวลำพังเพียงคนเดียวของนายเดชาหรือเดียร์ จำเลยไม่ได้สมรู้ร่วมคิดด้วย จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกชิงทรัพย์ ที่โจทก์นำนายคงศักดิ์ รัตนเสวี มาเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้นายคงศักดิ์ถูกจำเลยกับพวกรุมต่อยและเตะ นายคงศักดิ์วิ่งหนีไปถึงบ้าน พบว่าเงินสดหายไป 3,000 บาท โดยไม่ทราบว่าถูกใครล้วงไปนั้น จะอนุมานว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์หาได้ไม่ จึงไม่อาจรับฟังมาเป็นโทษแก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในเหตุผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share