แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บิดาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาให้โจทก์ไว้มีความว่า บิดาจำเลยได้ขายฝากที่ดินพิพาทอันมี ส.ค.1 ให้โจทก์ทำผลประโยชน์ในที่ดินแทนดอกเบี้ยเป็นเวลา 4 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วถ้าไม่นำเงินมาชำระจะยอมโอนที่พิพาทให้โจทก์เป็นจำนวนเงินหกหมื่นบาท และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์ในวันถัดจากวันครบกำหนด บิดาจำเลยได้รับราคาดังกล่าวไปแล้ว ดังนี้ไม่ใช่สัญญาขายฝากที่พิพาท แต่เป็นเรื่องกู้เงินโดยมอบที่พิพาทให้ทำนาต่างดอกเบี้ย ครั้นบิดาจำเลยตาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับสภาพหนี้โดยให้โจทก์ทำนาต่อมา เมื่อหนี้ถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตกลงกับโจทก์ขอชำระหนี้ด้วยที่พิพาทโดยขอเงินเพิ่มจากโจทก์อีกโจทก์ตกลงและจ่ายเงินให้บางส่วนแล้ว ส่วนที่เหลือจะจ่ายให้ในวันโอน เมื่อที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่โจทก์ได้รับมอบให้ครอบครองที่พิพาทต่อมานับแต่ตกลงกันนั้น หนี้ของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 ที่พิพาทย่อมตกเป็นของโจทก์ การที่จำเลยจะไปโอนให้แก่โจทก์นั้นเป็นเพียงพิธีการ โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยโอนให้ และรับเงินที่ยังค้างอยู่ได้และเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตกลงกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 กลับโอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เจ้าหนี้อีกรายหนึ่งไป โดยจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เสียได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นบุตรนายสน ศรีบุบผา นายสนได้เอาที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๔, ๕๕ ขายฝากแก่โจทก์เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท การขายฝากทำสัญญากันเอง โจทก์ได้ชำระเงินและเข้าครอบครองทำนาต่างดอกเบี้ยตั้งแต่ปีที่ขายฝาก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ นายสนตายที่ดินตกเป็นมรดกแก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยินยอมให้โจทก์ครอบครองที่ดินทำกินต่างดอกเบี้ยตามสัญญาตลอดมาจนครบ ๔ ปี ผู้รับมรดกว่าไม่มีเงินไถ่ถอนจะยอมโอนที่ดินให้ตามสัญญา ขอเงินเพิ่มเป็นค่าใช้จ่ายในการโอนอีก ๖,๐๐๐ บาท โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ ๒ ไป ๑,๑๖๔ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นพระภิกษุจัดการรับมรดกและโอนไม่ได้ จึงให้จำเลยที่ ๑ ประกาศรับมรดกและออก น.ส.๓เพื่อโอนขายให้โจทก์ นายเท้งสามีจำเลยที่ ๓ ค้านว่านายสนเป็นหนี้นายเท้งอยู่จำเลยที่ ๑ จะโอนให้จำเลยที่ ๓ แล้วจะนำเงินชำระให้โจทก์ โจทก์ไม่ยอมและคัดค้านไว้ ต่อมาจำเลยที่ ๑ โอนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ ๓ โดยรู้อยู่แล้วว่าที่พิพาทนายสนได้ขายฝากและมอบให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ยและสัญญาถึงกำหนดโอนขายให้แล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๑, ๓ ไม่สุจริต ฉ้อฉลโจทก์ทำให้โจทก์เสียเปรียบ เพราะนายสนไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้แก่โจทก์นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะ ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ เป็นโมฆะ บังคับให้จำเลยที่ ๑ รับเงินที่ค้างอยู่ ๔,๘๓๖ บาทจากโจทก์ แล้วโอนขายที่พิพาทให้โจทก์ ถ้าไม่ยอมโอนก็บังคับให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๖๑,๑๖๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ให้การว่า นายสนไม่เคยเอาที่ดินตามฟ้องไปขายฝากไว้กับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยรับรองหนี้หรือสัญญาใด ๆ ไม่เคยรับจะโอนที่ดินให้โจทก์ โจทก์เข้าทำกินในที่พิพาทบางส่วนโดยอาศัยการรับมรดกและออก น.ส.๓ จำเลยที่ ๑ ทำไปแต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๓ รับซื้อที่ดินไว้ในราคา ๕๐,๐๐๐ บาท โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิถูกต้องตามกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจขอเพิกถอน
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ทำลายนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๑ รับเงินจากโจทก์ ๔,๘๑๖ บาทและโอนที่พิพาทให้โจทก์หากไม่ยอมโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาโอนถ้าโอนไม่ได้ให้จำเลยที่ ๑ ผู้รับมรดกนายสนใช้เงินให้โจทก์ ๖๑,๑๖๔ บาทกับดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่านายสนจะได้ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้โจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังว่า นายสนได้ทำสัญญาเอกสาร จ.๕ ให้โจทก์ไว้ สัญญานี้มีความว่า “ผู้ขายได้ขายฝากที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๔, ๕๕ เป็นเนื้อที่ ๖๖ ไร่ โดยผู้ขายขายฝากให้ผู้ซื้อทำผลประโยชน์ในที่ดินแทนดอกเบี้ยเป็นเวลา ๔ ปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญานี้ ผู้ขายไม่นำเงินมาชำระตามกำหนดสัญญาผู้ขายจะยอมโอนที่ดินทั้งหมดให้แก่ผู้ซื้อเป็นจำนวนเงินหกหมื่นบาท และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๐๘ และผู้ขายได้รับราคาดังกล่าวแล้วไปจากผู้ซื้อเสร็จแล้ว” โจทก์ได้เข้าทำนาในที่พิพาท ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นายสนตาย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้โจทก์ทำนาพิพาทต่อไปว่าครบกำหนดจะไถ่ถอน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เมื่อจะครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ตกลงจะโอนที่พิพาทให้โจทก์และขอเงินเพิ่มจากโจทก์อีก ๖,๐๐๐ บาท โจทก์ตกลงจำเลยที่ ๒ ขอรับเงินไปแล้ว ๑,๑๖๔ บาท ครั้นเมื่อจำเลยที่ ๒ จะขอรับมรดกที่พิพาทก็รับมรดกไม่ได้เพราะเป็นพระภิกษุ จำเลยที่ ๑ จึงขอรับมรดก ครั้นถึงวันนัดโอนที่พิพาทนายเท้งคัดค้านไม่ยอมให้จำเลยที่ ๑ รับโอน อ้างว่านายสนเป็นหนี้นายเท้งอยู่ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๐๙ จำเลยที่ ๑ รับมรดกที่พิพาทแล้วโอนขายให้จำเลยที่ ๓ ภรรยาของนายเท้ง
ศาลฎีกาเห็นว่า นายสนทำสัญญาไว้กับโจทก์แล้วยังไม่ได้ชำระเงินให้ก็ถึงแก่กรรมไป จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นทายาทได้รับสภาพหนี้โดยให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ยต่อมาจำเลยที่ ๑ จึงมีความผูกพันที่จะต้องใช้หนี้ให้โจทก์แต่จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ ไปโดยนายสนไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกที่จะใช้หนี้โจทก์ และจำเลยที่ ๓ ก็รู้ถึงความจริงอยู่ว่าถ้าจำเลยที่ ๓ รับโอนที่พิพาทไปแล้วจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๓๗
สัญญาหมาย จ.๕ นั้น มิใช่เป็นเรื่องขายฝาก เพราะกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทมิได้ตกไปยังโจทก์โดยมีข้อตกลงว่าอาจไถ่คืนได้ จึงเป็นเรื่องนายสนกู้เงินโจทก์และมอบที่ดินให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ย เมื่อนายสนถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ ๑,ที่ ๒ ซึ่งเป็นทายาทได้ตกลงกับโจทก์ขอชำระหนี้นายสนด้วยที่ดินพิพาท และขอเงินเพิ่มเติมอีก ๖,๐๐๐ บาท โจทก์จ่ายให้ ๑,๑๖๔ บาทแล้ว ที่เหลือจะจ่ายให้ในวันโอนที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เมื่อโจทก์ได้รับมอบให้ครอบครอง ต่อมาภายหลังการตกลงดังกล่าวนี้ จึงเป็นการสละสิทธิครอบครองที่พิพาทให้โจทก์การที่จำเลยชำระหนี้ด้วยที่พิพาทแทนการชำระหนี้ที่นายสนตกลงไว้ และโจทก์ยอมรับชำระหนี้ดังกล่าว กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๑ หนี้ของโจทก์ก็เป็นอันระงับสิ้นไป ที่พิพาทย่อมตกเป็นของโจทก์การที่จำเลยจะไปจัดการโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ต่อไปนั้น จึงเป็นเพียงพิธีการโจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยโอนตามที่ตกลงได้
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๑ โอนที่พิพาทให้โจทก์พร้อมกับรับเงินที่ค้างอยู่ ๔,๘๓๖ บาท หากจำเลยที่ ๑ ไม่โอนให้เอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑