คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 มาตรา 18 หมายความถึงค่ารายปี ของปี ก่อนถัดจากปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำลังประเมิน มิใช่ หมายความ ถึงค่ารายปีของปีก่อน ๆ นั้นขึ้นไป ทั้งกฎหมายก็มิได้ มีความหมายว่าให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรงเป็นเพียงแต่นำมาเป็นหลักการคำนวณเท่านั้นเพราะค่ารายปีในปีต่อมาอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโรงงานโจทก์พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และตามหนังสือสั่งการของกรุงเทพมหานคร ทั้งเป็นการให้ความ เป็นธรรมแก่โจทก์โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบเกี่ยวกับขนาด สภาพโรงงานของโจทก์เพื่อจะนำมาพิจารณาเทียบกัน พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินมิได้กระทำการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นตามใจชอบ โดยไม่มีหลักเกณฑ์และการปรับค่ารายปีนั้นพนักงานประเมินก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นแต่ละปีมิได้เพิ่มขึ้นครั้งเดียวให้ถึงอัตราที่อยู่ในอัตราเดียวกับบริษัทอื่น ๆ เมื่อพนักงานประเมินปรับค่ารายปีของโจทก์อยู่ในระดับเดียวกับบริษัทอื่น ๆ แล้วพนักงานประเมินก็มิได้เพิ่มค่ารายปีและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นทุกปีดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อพิรุธทำให้เห็นว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเป็นไปโดยมิชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอศาลพิจารณาพิพากษาว่า การประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนไม่ถูกต้องและกำหนดอัตราค่าภาษีโรงเรือนที่โจทก์ต้องเสียภาษีใหม่ตามกฎหมายเท่ากับจำนวนพ.ศ. 2524 เป็นเงิน 16,527.50 บาท และให้จำเลยคืนเงินที่เรียกเก็บจากโจทก์เกินไปตามฟ้องเป็นเงินจำนวน 69,352.65 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยจำเลยทั้งห้าให้การว่าจำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประเมินภาษีรายพิพาทนี้อย่างใด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 กระทำโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วในวันชี้สองสถาน โจทก์รับว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินในคดีนี้ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 มาตรา 18 ควรจะหมายความถึงค่ารายปีของปีก่อน ๆ ด้วย มิได้หมายความว่า ค่ารายปีของปีที่แล้วมาเท่านั้นและการที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2527 ก็จะถือว่าโจทก์ยอมรับว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีดังกล่าวถูกต้องไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 18 ได้บัญญัติไว้ว่า “ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา” เห็นว่า ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นจึงหมายความถึงค่ารายปีก่อนถัดจากปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำลังประเมิน มิใช่หมายความถึงค่ารายปีของปีก่อน ๆ นั้นขึ้นไปดังที่โจทก์อุทธรณ์มาด้วย เช่น ในการประเมินค่ารายปีของปี 2528 ก็ต้องนำค่ารายปีของปี 2527 มาเป็นหลักการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปี 2528 ทั้งนี้เพราะการที่นำค่ารายปีของปีถัดจากปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำลังประเมินมาเป็นหลักการคำนวณภาษี ซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาหรือปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำลังประเมิน จะได้ค่ารายปีของปีต่อมาใกล้เคียงหรือตามความเป็นจริง แต่กฎหมายก็มิได้มีความหมายว่าให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรงเป็นเพียงแต่นำมาเป็นหลักการคำนวณเท่านั้น เพราะค่ารายปีในปีต่อมาอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริงส่วนกรณีที่โจทก์ไม่อุทธรณ์หรือโต้แย้งค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2527 นั้น แสดงว่าโจทก์พอใจจำนวนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินแล้ว เช่นเดียวกับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2524 ถึงปี 2526 ซึ่งนายผ่อง กู้ชิงชัยกรรมการของโจทก์ที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า เหตุที่ไม่อุทธรณ์ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2525 ถึงปี 2526 เพราะได้สอบถามทางเขตแล้ว ทางเขตแจ้งว่าได้ประเมินเจ้าของอาหารโรงเรือนเพิ่มขึ้นเหมือนกันหมด ทางโจทก์จึงไม่ติดใจ ดังนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินนำค่ารายปีของปี 2527 มาเป็นหลักการคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ ปี 2528 จึงเป็นการชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อมาว่า ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์ตั้งแต่ปี 2524 ถึงปี 2528 เพิ่มขึ้นทุกปีตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.6 หรือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4หรือ จ.7 คำนวณแล้วเพิ่มขึ้นถึง 118 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อนำเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภคของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ ตามเอกสารหมายจ.8 จะเห็นว่าแตกต่างกันมากและเมื่อนำเทียบกับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เรียกเก็บจากห้างหุ้นส่วนจำกัดโชติกิจอุตสาหกรรม แล้วจะเห็นว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัดโชติกิจอุตสาหกรรม ไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกปีตามเอกสารหมาย จ.11ถึง จ.15 เหมือนกับของโจทก์ จึงแสดงว่าจำเลยขึ้นภาษีเอาตามใจชอบแล้วแต่จะขึ้นภาษีกับผู้ใดหามีหลักเกณฑ์แต่อย่างใดไม่ และการที่นำค่ารายปีเพื่อคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินของบริษัทกรุงเทพยูเนี่ยนแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กับบริษัทอุตสาหกรรมอลูมิเนียมสำเร็จรูป จำกัด มาเทียบกับโรงงานของโจทก์เพื่อคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น โจทก์ก็ไม่เห็นด้วย เพราะจำเลยคำนวณเอาเองและจำเลยไม่นำสืบว่าบริษัททั้งสองพอใจกับค่ารายปีที่จำเลยนำสืบหรือไม่นั้น เห็นว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ จำเลยมีนายสมาน มานะกุล จำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้างานรายได้เขตมีนบุรี ระหว่างวันที่ 5 มกราคม2527 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2529 มีอำนาจหน้าที่ในการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตมีนบุรี และเป็นผู้ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์มาสืบได้ความว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินในชั้นต้นจะต้องกำหนดค่ารายปี ถ้าเป็นโรงเรือนที่มีการให้เช่าจะถือค่าเช่าเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปี ถ้าเป็นโรงเรือนที่ไม่มีการให้เช่าจะกำหนดค่ารายปีโดยเทียบเคียงจากค่าเช่าของโรงเรือนในบริเวณใกล้เคียงกันเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่ารายปีสำหรับกรณีโรงงาน ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะเป็นเจ้าของโรงงานเองดังนั้นในการกำหนดค่ารายปีจึงได้กำหนดค่าเช่าเฉลี่ยเป็นตารางเมตรและต้องเทียบเคียงกับโรงงานซึ่งมีสภาพและกิจการใกล้เคียงกัน รวมทั้งสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กันอีกด้วย ในการกำหนดค่ารายปีของปี2528 ของโรงงานโจทก์ได้นำค่ารายปีของปี 2527 มาเป็นหลักการคำนวณ นอกจากนี้เมื่อโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2528 และปี 2529 แล้ว นายสมานจำเลยที่ 2 ได้สั่งให้นายสุนทร ลักขณาพาชื่นกุล เจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ 3 ไปตรวจสอบสภาพโรงงานของโจทก์ว่ามีการใช้ประโยชน์ของโรงงานอย่างใดและมีการก่อสร้างโรงงานเพิ่มเติมหรือไม่และให้ดูโรงงานอื่น ๆในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อนำมาพิจารณาเทียบกำหนดค่ารายปี และได้คำนวณค่ารายปีของโจทก์โดยใช้หลักเกณฑ์ตามหนังสือสั่งการของกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 เรื่องการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประเภทที่ใช้เป็นโรงงาน (หนังสือดังกล่าวรวมไว้ในสำนวน) ซึ่งกำหนดว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประเภทที่ใช้ดำเนินกิจการโรงงานที่กำหนดค่ารายปีขั้นต่ำโดยเทียบค่าเช่าไม่ถึงตารางเมตรละ 7 บาท ก็ให้ปรับปรุงเป็นตารางเมตรละ7 บาท หรือกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นอีกตามความเหมาะสม ในการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์สำหรับปี 2528 จำเลยที่ 2พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินได้แยกโรงเรือนออกเป็น 3 ประเภทคือ ตัวอาคารโรงงานซึ่งเป็นตึกจะประเมินตารางเมตรละ 9 บาทส่วนที่เป็นเพิงไม้หรือเรือนไม้จะประเมินตารางเมตรละ 7 บาท สำหรับที่ดินที่เป็นส่วนประกอบของอาคารทั้งหมดประเมินตารางเมตรละ 1บาทเศษ และได้นำเทียบโรงงานของบริษัทยูเนี่ยนแมนูแฟคเจอริ่งจำกัด กับโรงงานของบริษัทอุตสาหกรรมอลูมิเนียมสำเร็จรูปจำกัด ส่วนปี 2529 ได้นำเทียบกับโรงงานของบริษัทโตโยอิ้งค์ จำกัดซึ่งโรงงานของบริษัทดังกล่าวอยู่ในบริเวณและประกอบกิจการทั้งสภาพความเก่าใหม่ ขนาดกว้างใหญ่ใกล้เคียงกับโรงงานของโจทก์และได้มีการกำหนดค่ารายปีในอัตราตารางเมตรละ 9 บาทมาแล้วเห็นว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโรงงานโจทก์จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และตามหนังสือสั่งการของกรุงเทพมหานคร ทั้งเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ โดยส่งนายสุนทรเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบเกี่ยวกับขนาด สภาพโรงงานของโจทก์กับโรงงานของบริษัทอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานของโจทก์ เพื่อจะนำมาพิจารณาเทียบกัน ซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งในข้อดังกล่าวทั้งบริษัทที่นำเทียบนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีการอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับการกำหนดค่ารายปีตามอัตราข้างต้นจึงแสดงว่าการกำหนดค่ารายปีและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามอัตรานั้นเป็นที่พอใจของบริษัทเหล่านั้นแล้ว ดังนี้จึงเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินมิได้กระทำการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นตามใจชอบโดยไม่มีหลักเกณฑ์แต่อย่างใด ส่วนภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเพิ่มขึ้นทุกปีนั้น จำเลยที่ 2 ผู้ทำการประเมินได้เบิกความยืนยันว่า ก่อนปี 2527 พนักงานประเมินภาษีโรงเรือนได้กำหนดค่ารายปีของโรงงานโจทก์ไม่ถึงตารางเมตรละ7 บาท ต่อมาในปี 2527 จึงได้กำหนดค่ารายปีของโจทก์ที่เป็นตึกตารางเมตรละ 7 บาท ส่วนที่เป็นเรือนไม้ตารางเมตรละ 5 บาทและเหตุที่ภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2528 สูงกว่าปี 2527 เพราะในปี2528 พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินได้กำหนดค่ารายปีของโรงงานโจทก์ที่เป็นตึกตารางเมตรละ 9 บาท ที่เป็นเรือนไม้ตารางเมตรละ7 บาท ทั้งนี้ก็เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีและการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นอัตราเดียวกันกับโรงงานของบริษัทอื่น ๆ ที่ได้จัดเก็บในอัตราดังกล่าวมาแล้ว เห็นว่า การกำหนดค่ารายปีเพื่อจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ทำการประเมินดังกล่าวได้ปฏิบัติไปตามหลักเกณฑ์ในหนังสือสั่งการของกรุงเทพมหานครซึ่งให้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2525 ดังนั้นการที่ภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นทุกปี จะเห็นได้ว่าเป็นการปรับค่ารายปีให้เป็นไปตามหนังสือสั่งการของกรุงเทพมหานครดังกล่าวและจะเห็นให้อยู่ในระดับอัตราเดียวกันกับค่ารายปีของบริษัทอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับโรงงานของโจทก์ ทั้งการปรับค่ารายปีนั้นพนักงานประเมินก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นแต่ละปีมิได้เพิ่มขึ้นครั้งเดียวให้ถึงอัตราที่อยู่ในระดับเดียวกับบริษัทอื่น ๆ และได้ชัดยิ่งขึ้นว่าเมื่อพนักงานประเมินปรับค่ารายปีของโจทก์อยู่ในระดับเดียวกับบริษัทอื่น ๆ แล้วในปี 2529 พนักงานประเมินก็มิได้เพิ่มค่ารายปีและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดดังนั้นการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นทุกปีดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อพิรุธทำให้เห็นว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเป็นไปโดยมิชอบ ส่วนเกี่ยวกับดัชนีราคาผู้บริโภครวมทั้งระดับราคาค่าเช่าหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าดัชนีค่าครองชีพตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9ซึ่งโจทก์นำสืบว่าตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปี 2529 ได้เพิ่มขึ้นไม่มากและเมื่อนำมาเทียบกับภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2524 ถึงปี 2529 จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมากนั้น เห็นว่านายดิเรก ฮะกินี พยานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ดัชนีราคาผู้บริโภครวมทั้งระดับราคาค่าเช่าบ้านได้เบิกความยืนยันว่า ดัชนีค่าเช่าบ้านไม่ได้รวมถึงโรงงานหรือสถานที่ประกอบธุรกิจ และดัชนีราคาผู้บริโภคไม่ได้มีเจตนาทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจึงเจือสมกับคำจำเลยที่ 2 และนายสุพจน์ ไพบูลย์ พยานจำเลยที่เบิกความว่าดัชนีราคาผู้บริโภคไม่เกี่ยวหรือไม่นำมาใช้ในการประเมินค่ารายปีเพื่อจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินดังนั้นดัชนีราคาผู้บริโภคจึงไม่อาจนำเทียบในการคำนวณค่ารายปีของประเภทโรงงานเพื่อจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าใดได้ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share