แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยให้การรับสารภาพ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่รอการลงโทษจำเลยให้เหตุผลเพียงว่าพฤติการณ์แห่งคดีถือว่าไม่ร้ายแรง ประกอบกับจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ไม่ยุ่งยากที่โจทก์จะคัดสำเนาส่งไปให้อัยการศาลสูงพิจารณา แต่โจทก์กลับยื่นคำร้องขอถ่ายสำเนาคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้วหนึ่งเดือนเศษ และในการสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 2 ตามคำร้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นก็ได้สั่งกำชับโจทก์ว่า อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 11 มีนาคม 2542 ทั้งระยะเวลาที่ขยายให้ก็มากพอที่โจทก์จะดำเนินการได้ทัน ความล่าช้าต่าง ๆ ตามที่โจทก์อ้างก็เนื่องมาจากการปฏิบัติงานของโจทก์เองทั้งสิ้น จึงไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษอันควรขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่โจทก์อีก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง, 73 จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจำเลย 6,000 บาทอีกสถานหนึ่งลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2541 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2542 อ้างว่าต้องส่งสำนวนการสอบสวนและผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้อัยการสูงสุดประจำเขต 7 จังหวัดราชบุรีพิจารณา ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542อ้างว่า ได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้อัยการสูงสุดรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่ยังไม่ได้รับสำนวนกลับคืนมา ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาถึงวันที่ 11 มีนาคม 2542 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม2542 อ้างว่ายังไม่ได้รับสำนวนการสอบสวนที่ส่งไปให้อัยการสูงสุดรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงกลับคืนมา ศาลชั้นต้นสั่งว่าได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาให้โจทก์ยื่นฎีกา 2 ครั้งแล้ว ประกอบกับคดีนี้ จำเลยให้การรับสารภาพ ไม่มีการสืบพยาน ทั้งเหตุผลตามคำร้องถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ จึงไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่รอการลงโทษจำเลยให้เหตุผลสั้น ๆ เพียงว่า พฤติการณ์แห่งคดีถือว่าไม่ร้ายแรงนักประกอบกับจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเท่านั้น ทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าวมีความยาวเพียง 2 หน้ากระดาษเศษ จึงไม่ยุ่งยากที่จะคัดสำเนาส่งไปให้อัยการศาลสูงพิจารณาแต่กลับปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอถ่ายสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้วหนึ่งเดือนเศษ นอกจากนี้ในการสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 2 ตามคำร้องโจทก์ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ศาลชั้นต้นได้สั่งกำชับโจทก์แล้วด้วยว่า อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 11 มีนาคม 2542 ทั้งระยะเวลาที่ขยายให้ก็มากพอที่โจทก์จะดำเนินการได้ทันทีถ้ามีความสนใจ ความล่าช้าต่าง ๆ ตามที่โจทก์อ้างล้วนเนื่องมาจากการปฏิบัติงานของโจทก์เองทั้งสิ้น จึงมิใช่พฤติการณ์พิเศษอันควรขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่โจทก์อีก ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน