คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้เยาว์มีข้อความว่า จำเลยยินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์ โดยจะนำเงินมามอบให้ในวันที่ได้กำหนดไว้ หากถึงกำหนดวันนั้น จำเลยไม่ชำระ โจทก์จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป แต่ถ้าจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์ก็จะถอนคดีด้วยความเต็มใจ การที่จำเลยยินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์ก็เพราะจำเลยประสงค์ให้โจทก์ถอนคดีในข้อหาพรากผู้เยาว์ที่ได้แจ้งความไว้ แต่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นี้เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ฉะนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(อ้างฎีกาที่ 1181/2491)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2509 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 2 และเป็นหลานจำเลยที่ 3 ได้พรากเด็กหญิงสุบิน โนนกอง บุตรโจทก์อายุ 14 ปีไปเสียจากโจทก์ผู้เป็นบิดาผู้ปกครองเพื่อการอนาจารเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ครั้นต่อมาจำเลยทั้งสามได้ตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 5,000 บาทภายในกำหนด 1 เดือน แต่จำเลยไม่ชำระให้โจทก์ตามข้อตกลง จึงขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า นางสาวสุบินอายุ 18 ปี ได้ติดตามไปอยู่กับจำเลยที่ 1 ด้วยความสมัครใจ โจทก์ไม่ใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายของนางสาวสุบิน จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญารับรองความเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญาให้โจทก์เพราะถูกผู้แสดงตนเป็นตำรวจขู่บังคับ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนสืบพยาน คู่ความท้ากันโดยขอให้ศาลวินิจฉัยเฉพาะเอกสารสัญญาว่าโจทก์มีสิทธิและอำนาจที่จะฟ้องเรียกเงินจากจำเลยหรือไม่หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิและอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามเอกสารสัญญาจำเลยยอมแพ้ยอมชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิและอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์ยอมแพ้ โจทก์จำเลยยอมสละประเด็นข้ออื่นทั้งหมดและทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงชื่อในเอกสารสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และสัญญามีเงื่อนไขว่า ถ้าจำเลยที่ 2 ที่ 3ชำระค่าสินสอดภายในวันที่ได้กำหนดไว้ โจทก์จะไม่ดำเนินคดีอาญากับจำเลย แต่ถ้าไม่ชำระ ก็จะดำเนินคดีอาญากับจำเลย ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเอกสารสัญญา พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นผู้ให้สัญญาจำเลยที่ 3 ลงชื่อเป็นพยาน ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาฉบับนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หนังสือสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาระงับข้อพิพาทซึ่งจำเลยที่ 2 ได้พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นผู้ยินยอมในสัญญาจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิด พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ผู้เดียวใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์เอกสารสัญญาซึ่งมีข้อความว่า นายอินทร์ได้ติดตามหานางสาวสุบินบุตรสาวซึ่งสงสัยว่าถูกหลอกลวงไปในทางทุจริตตามที่ได้แจ้งความไว้แล้วนั้น บัดนี้ พบนางสาวสุบินมาอยู่กับนายผ่องบุตรนางแหนะ ฯลฯ ได้ทำความตกลงกัน ฝ่ายมารดานายผ่องและนายโหรยพี่ชายยินยอมชดใช้เงินค่าสินสอดให้เป็นเงิน 5,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปส่งให้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2510 นายอินทร์ยอมตกลง ถ้าฝ่ายนางแหนะและนายโหรยไม่ปฏิบัติตามที่บันทึกไว้ นายอินทร์จะนำคดีนี้จัดการฟ้องตามกฎหมายต่อไป ถ้าตกลงตามวันที่ดังกล่าว ฝ่ายนายอินทร์จะถอนคดีโดยเต็มใจ ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่านางแหนะ นายโหรยจำเลยยินยอมชดใช้เงินค่าสินสอดให้ โจทก์ก็เพื่อให้โจทก์ถอนคดีที่ได้แจ้งความไว้ ข้อหาที่โจทก์แจ้งความไว้ตามเอกสารสัญญาประกอบกับที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องเป็นข้อหาฐานพรากผู้เยาว์ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ฉะนั้น ข้อตกลงให้เงินสินสอดดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์

Share