คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ใบมอบอำนาจไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 121
ใบมอบอำนาจท้ายฟ้อง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง
จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีสำเนาใบมอบอำนาจติดท้ายฟ้องส่งให้แก่จำเลย ปรากฏว่า เมื่อจำเลยรับสำเนาฟ้องแล้วได้ดำเนินคดีเรื่อยมา เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี 2 วัน เกินกำหนดเวลากฎหมายกำหนดไว้ จึงไม่มีผลประการใด
เมื่อจำเลยให้การรับว่า จำเลยได้ขับรถยนต์แฉลบลงข้างทางตามฟ้องโจทก์ ข้อเท็จจริงก็รับฟังเป็นยุติจากคำฟ้องโจทก์คำให้การจำเลย แม้โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยขับรถยนต์ชนต้นไม้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2504 (ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์ชนต้นไม้ วันที่ 6 มกราคม 2504) ก็ไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้ศาลยกฟ้องโจทก์
ข้อเท็จจริงที่ว่า กรมอนามัยได้ใช้ราคารถยนต์ให้แก่องค์การยูนิเซฟแล้วหรือไม่ จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของหน่วยควบคุมโรคเรื้อนกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประจำจังหวัดขอนแก่น ในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ จำเลยที่ ๒ เป็นคนค้ำประกันในความเสียหาย ถ้าจำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดการเสียหายกับรถยนต์ทางราชการ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ของทางราชการโดยความประมาทเลินเล่อทำให้รถพังเสียหาย คิดค่าเสียหาย ๒๒,๔๐๐ บาท ขอให้ศาลบังคับ
ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้ง ๒ ชำระค่าเสียหายตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้ง ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้ง ๒ กำหนดค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๒,๔๐๐ บาทชอบแล้ว
ข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะใบมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ และไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าผู้ใดเป็นผู้แทนของกรมอนามัยและโจทก์มิได้มีสำเนาติดท้ายฟ้องส่งแก่จำเลย ไม่เป็นฟ้องอันสมบูรณ์นั้น เห็นว่าใบมอบอำนาจฟ้องไม่ต้องปิดอากรแสตมป์เพราะได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒๑ และตามฟ้องตอนระบุชื่อโจทก์ก็ปรากฏข้อความว่า ข้าพเจ้ากรมอนามัยโดยนายแพทย์กำจร ดวงแก้ว ผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์และโจทก์ได้เสนอใบมอบอำนาจดังกล่าวมาท้ายฟ้องซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องโจทก์ เห็นว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ส่วนสำเนาใบมอบอำนาจซึ่งจำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีสำเนาติดท้ายฟ้องส่งแก่จำเลย ปรากฏว่า หลังจากจำเลยได้รับสำเนาแล้ว จำเลยคงดำเนินคดีเรื่อยมา โดยไม่ได้ยกความข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวแต่อย่างใด เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี ๒ วัน เกินกำหนดเวลาที่มาตรา ๒๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้
ข้อที่จำเลยคัดค้านว่า โจทก์ไม่มีพยานนำสืบว่าจำเลยได้ขับรถยนต์โจทก์ชนต้นไม้ทำให้โจทก์เสียหายในวันที่โจทก์ฟ้อง คือ วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๐๔ แต่กลับนำสืบว่าจำเลยทำให้รถยนต์ของโจทก์ชนต้นไม้เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๔ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบต่างกับฟ้อง จะฟังข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่ง เมื่อจำเลยให้การรับว่าจำเลยได้ขับรถยนต์คันพิพาทแฉลบลงข้างทางตามฟ้องโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงก็รับฟังเป็นยุติจากคำฟ้องโจทก์คำให้การจำเลยได้แล้วว่า จำเลยได้ขับรถยนต์แฉลบลงข้างทางทำให้โจทก์เสียหาย ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นประเด็นที่ยุติแล้ว แม้โจทก์จะนำสืบว่า จำเลยขับรถยนต์ชนต้นไม้เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๔ ต่างกับฟ้องก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุหถึงกับทำให้ศาลยกฟ้องโจทก์
ปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่า กรมอนามัยได้ใช้ราคารถยนต์ให้แก่องค์การยูนิเซฟแล้วหรือไม่ ปรากฏว่า จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา ๒๔๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พิพากษายืน

Share