คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เห็นได้ว่า ประสงค์จะรอการลงโทษให้จำเลยแต่ไม่ปรากฏในคำบังคับของศาลอุทธรณ์ว่าให้รอการลงโทษจำเลย ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพราะความผิดหลง หรือเขียนคำบังคับผิดพลาดไป ซึ่งศาลอุทธรณ์ชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 มิได้มีข้อห้ามไว้ว่าถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดข้อไหนแก้ได้หรือไม่ประการใด จึงน่าจะทำได้ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เมื่อข้อความที่แก้ไขหรือขยายความมิได้กลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หากแต่แก้คำบังคับที่ผิดพลาดให้ถูกต้องจึงย่อมทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 190

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัดพ.ศ. 2466 มาตรา 31, 38 พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 91, 270 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่าจำเลยเป็นหญิง กระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีก็ไม่ร้ายแรงนัก เห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสืบไป ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบเห็นควรลงโทษปรับด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 3,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่า ตามเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จำเลยน่าจะได้รับการรอการลงโทษ แต่ไม่มีข้อความในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้รอการลงโทษให้จำเลย จึงขอให้ศาลอุทธรณ์ขยายความดังกล่าวข้างต้นให้แก่จำเลยด้วยเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า ตามเหตุผลที่ได้แสดงไว้ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ก็ด้วยประสงค์ที่จะรอการลงโทษเพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีสืบไปนั้นเอง แต่เมื่อในคำพิพากษาไม่ปรากฏข้อความดังกล่าว จึงขยายความเป็นว่าสำหรับโทษจำคุก1 เดือน ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56
โจทก์ฎีกาคัดค้านว่า การขยายข้อความในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการแก้ไขคำพิพากษา มิใช่การแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190, 215คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ขอให้ยกคำสั่งของศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เห็นได้ชัดว่าประสงค์ที่จะรอการลงโทษให้จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีสืบไป แต่ไม่ปรากฏในคำบังคับของศาลอุทธรณ์ว่าให้รอการลงโทษให้จำเลย เหตุที่กล่าวอ้างในคำวินิจฉัยจึงแตกต่างกับผลในคำบังคับ ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นเพราะความผิดหลง หรืออีกนัยหนึ่งเขียนคำบังคับผิดพลาดไป ซึ่งศาลอุทธรณ์ชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190มิได้ระบุ หรือมีข้อความห้ามไว้ว่า ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดข้อไหนแก้ไขได้หรือไม่ประการใด จึงน่าจะทำได้ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิเคราะห์เปรียบเทียบกันระหว่างคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กับคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วจะเห็นได้เด่นชัดอีกว่าข้อความที่แก้ไขหรือขยายความมิได้กลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หากแต่แก้คำบังคับที่ผิดพลาดให้ถูกต้องซึ่งย่อมทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190คำสั่งของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share