คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่า ได้มีการสอบสวนแล้วย่อมสันนิษฐานได้ว่า มีการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยไม่คัดค้าน โดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ ถือว่าไม่มีข้อโต้เถียงกัน หากตามสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการสอบสวนนั้นไม่ชอบ จำเลยเพิ่งมาคัดค้านขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้กรณีถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลย เมื่อโจทก์จำเลยได้นำสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไปได้เอง โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดก่อน
แม้ อ. จะเคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยมาก่อน แต่ศาลได้สั่งแยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีที่ อ. ถูกฟ้องร่วมกับจำเลย โจทก์จึงอ้าง อ. เป็นพยานได้ โดยขณะที่ อ. เบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ อ. มิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย
การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56, 61 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ใช้กฎหมายบทที่หนักที่สุดลงโทษ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดที่มีโทษเบากว่า เพื่อให้ความผิดทุกกรรมรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ได้ ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 61 ซึ่งเป็นความผิดบทเบาที่สุด การเปรียบเทียบนั้นก็ไม่ชอบ คดีไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุดให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖, ๖๑, ๑๕๑, ๑๕๒
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นกรรมเดียวกัน ซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖, ๖๑, ๑๕๑, ๑๕๒ การที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยในข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๑, ๑๕๑ ซึ่งมีโทษเบากว่าไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จึงไม่ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗ (๓) และฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖, ๖๑ และจำเลยกระทำโดยประมาท แต่เป็นเหตุให้ผู้อื่นเพียงได้รับอันตรายแก่กาย พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖, ๖๑, ๑๕๑, ๑๕๒ แต่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๐ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๑ เดือน ลดโทษ ๑ ใน ๕ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒๔ วัน โดยไม่เห็นสมควรให้รอการลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๑, ๑๕๑ แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ย่อมระงับไป ส่วนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖, ๑๕๒ ทั้งสองฐาน พนักงานสอบสวนยังมิได้แจ้งข้อหาและทำการสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๗ เวลาประมาณเที่ยงคืน จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อ คันหมายเลขทะเบียน ๘๐-๓๓๗๕ กาญจนบุรี มาจอดบนทางเดินรถที่เกิดเหตุ เนื่องจากระบบช่วงล่างของรถเกิดชำรุด ปรากฏตามแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.๙ จนถึงคืนวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๗ เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกา ได้มีรถยนต์บรรทุก ๖ ล้อคันหมายเลขทะเบียน น.-๒๘๒๔ ขอนแก่น ซึ่งมีนายองอาจ เพิ่มพูลผล เป็นผู้ขับแล่นมาชนส่วนกระบะด้านท้ายรถคันเกิดเหตุดังกล่าวทางดานขวา เป็นเหตุให้นายวัฒนา ประสาวภา ที่โดยสารมาในรถคันหลังดังกล่าวตกจากรถได้รับอันตรายแก่กาย ปรากฏตามรายงานการชันสูตรบาดแผลเอกสารท้ายฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ ๑๐๙๕/๒๕๒๘ ของศาลเดียวกัน พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยเป็นเงิน ๒๐๐ บาท ในข้อหาจอดรถในทางเดินรถที่ไม่มีแสงสว่างเพียงพอโดยไม่เปิดไป หรือใช้แสงสว่างตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๑, ๑๕๑ นายองอาจ เพิ่มพูลผล ได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษในข้อหาขับรถโดยประมาท ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ ๑๐๙๕/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ได้มีการสอบสวนความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าได้มีการสอบสวนความผิดดังกล่าวไว้แล้ว จึงสันนิษฐานได้ว่าได้มีการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยไม่คัดค้านโดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ถือว่าไม่มีข้อโต้เถียงกัน หากตามสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการสอบสวนนั้นไม่ชอบ จำเลยเพิ่งมาคัดค้านขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้ กรณีถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาดังกล่าวตามฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และแม้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ เมื่อโจทก์จำเลยได้นำสืบพยานกันมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไปได้เอง โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดก่อน ในปัญหาข้อนี้นางองอาจ เพิ่มพูนผล คนขับรถยนต์บรรทุก ๖ ล้อ คันหมายเลขทะเบียน น-๒๘๒๔ ขอนแก่น พยานโจทก์เบิกความว่า ขณะขับรถยนต์คันดังกล่าวไปชนรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อคันหมายเลขทะเบียน ๘๐-๓๓๗๕ กาญจนบุรี ที่จำเลยขับและจอดทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ นาฬิกาเศษ ซึ่งมืดแล้ว และไม่ปรากฏว่ามีสัญญาณเป็นแสงไฟจากรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อ จำเลยเองก็เบิกความรับว่าได้จอดรถอยู่บนผิวจราจรห่างจากไหล่ถนนด้านซ้ายประมาณฟุตเศษ และอยู่ห่างเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนประมาณ ๒ ฟุต ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกบุญเลี้ยง พูนณรงค์ พนักงานสอบสวน และแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.๙ ที่ร้อยตำรวจเอกบุญเลี้ยงทำขึ้น ส่วนที่จำเลยเบิกความว่าได้เปิดไฟหรี่ทิ้งไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๗ เวลาประมาณเที่ยงคืน และลืมปิดไฟในตอนรุ่งเช้าของวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๗ ทำให้ไฟหมดเป็นเหตุให้ไม่มีสัญญาณไฟในขณะเกิดเหตุนั้น ก็ขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.๑๑ เอง ที่ว่าจำเลยไม่ได้สั่งให้นายธานี ชูขำ ซึ่งนั่งรถบรรทุก ๑๐ ล้อมากับจำเลยด้วยเปิดไฟแต่อย่างใด เพียงแต่สั่งให้เฝ้ารถไว้ ทั้งนายธานีพยานจำเลยเองก็เบิกความว่าไม่ได้เปิดไฟรถไว้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องรถยนต์เลย และที่จำเลยอุทธรณ์ว่าได้นำอ้อยมาผูกติดปักเป็นกองไว้ด้านหน้าและหลังรถข้างละ ๒ กอง เพื่อให้รถที่วิ่งมามองเห็นนั้น ก็ได้ความจากบันทึกในแผนที่เกิดเหตุและคำเบิกความของนายองอาจว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทุ่งนาไม่มีบ้านคนมืดมากและเป็นถนนเรียบ และจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกบุญเลี้ยงว่า กองอ้อยที่วางไว้นั้นมีลักษณะเห็นได้ไม่ชัดเจนเมื่อขับรถผ่านมาในเวลากลางคืน จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ที่จะจัดการป้องกันมิให้เกิดอันตรายขึ้นแก่ผู้ขับรถมาทางด้านหลัง ให้สามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่ผู้นั้นจะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้แล้ว สำหรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ว่า นายองอาจเคยเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยนี้ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๐๙๕/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยนี้เป็นคดีนี้ ศาลย่อมจะรับฟังคำเบิกความของนายองอาจเพื่อลงโทษจำเลยซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียวกันไม่ได้นั้น เห็นว่าแม้นายองอาจจะเคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยมาก่อน ศาลก็ได้สั่งแยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีที่นายองอาจถูกฟ้องร่วมกับจำเลย โจทก์จึงอ้างนายองอาจเป็นพยานได้ โดยขณะที่นายองอาจเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ นายองอาจมิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยจอดรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อบนทางเดินรถที่เกิดเหตุในเวลากลางคืนเนื่องจากรถชำรุดขัดข้อง ไว้ในทางเดินรถอันเป็นการกีดขวางการจราจรในเวลากลางคืนโดยมิได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามสมควรจนเป็นเหตุให้นายองอาจขับรถยนต์บรรทุกมาชนส่วนกระบะด้านท้ายรถของจำเลย และนายวัฒนาที่โดยสารมาในรถของนายองอาจตกจากรถได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ แล้ว และเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖, ๖๑ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ใช้กฎหมายบทที่หนักสุดลงโทษจึงต้องลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดที่มีโทษเบากว่า เพื่อให้ความผิดทุกกรรมรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๗ ได้ ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๑ ซึ่งเป็นความผิดบทเบาที่สุด การเปรียบเทียบนั้นก็ไม่ชอบ คดียังไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ และเมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖, ๖๑ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๑ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ ๑ ใน ๕ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒๔ วัน

Share