แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยร่วมปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยร่วมเรียกค่าใช้ที่ดิน ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยร่วมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า อาคารที่รุกล้ำเป็นของจำเลยร่วม ไม่ใช่ของจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลย จึงไม่มีปัญหาข้อใดที่จำเลยต้องโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยจึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้ ที่ดินพร้อมตึกแถวของโจทก์ทั้งสองกับที่ดินพร้อมตึกแถวของจำเลยร่วม อยู่ติดกันใช้ตงและคานร่วมกัน เดิมจำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารแล้วชำระเงินในชื่อของจำเลยร่วมเป็นงวด ๆ เมื่อตกลงซื้อแล้วจะให้จำเลยร่วมโอนกรรมสิทธิ์ไป พฤติการณ์ถือได้ว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายแทนจำเลยร่วมระหว่างการซื้อขายได้มีการจ้างช่างมาต่อเติมอาคาร โดยโจทก์ทั้งสองกับมารดาร่วมกับจำเลยและผู้อยู่ในตึกแถวรายอื่น ๆ โดยนาง อ.ผู้จัดการมรดกของผู้ขายให้ความยินยอมแล้ว เมื่อจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายแทนจำเลยร่วมจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้จ้างต่อเติมอาคารแทนจำเลยร่วมด้วย ดังนั้นการจ้างช่างมาต่อเติมอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์กระทำหลังจากที่จำเลยร่วมเป็นผู้จะซื้อที่ดินและอาคารแล้วโดยจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่ปลูกสร้างเป็นผู้จ้างช่างมาสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์เอง มิใช่ผู้อื่นเป็นผู้สร้างอาคารที่รุกล้ำแล้วโอนให้จำเลยร่วม การปลูกสร้างโจทก์ทั้งสองกับมารดาและจำเลยร่วมดำเนินการปลูกสร้างด้วยกัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมรู้ว่าได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์ทั้งสองจึงต้องถือว่าจำเลยร่วมสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยสุจริต กรณีจึงอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง จำเลยร่วมจึงเป็นเจ้าของโรงเรือนคือผนังตึกที่สร้างขึ้นนั้น โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจให้รื้อถอนคงมีสิทธิที่จะเรียกเงินเป็นค่าที่จำเลยร่วมใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องขอบังคับ ศาลจึงไม่อาจบังคับให้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15655 พร้อมด้วยตึกแถว 2 ชั้น เลขที่ 170 1 ห้องโดยมารดาซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมยกให้โจทก์ทั้งสองโดยเสน่หาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2527 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองบ้านเลขที่ 172 อันเป็นตึกแถว 2 ชั้น มีเขตที่ดินติดต่อกับตึกแถวของโจทก์ ได้ดำเนินการต่อเติมอาคารด้านหลังตึกแถวของจำเลยบุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2526เป็นเนื้อที่ประมาณ 0-0-003/10 ไร่ โจทก์ทั้งสองทราบการบุกรุกของจำเลยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2528 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์สามารถใช้ที่ดินดังกล่าวขายสินค้ามีรายได้อย่างต่ำวันละ 200 บาท โจทก์ขาดประโยชน์ดังกล่าวนับแต่วันบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนจนถึงวันฟ้องรวม 285 วันเป็นค่าเสียหาย 56,800 บาท นอกจากนี้การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เนื้อที่ดินของโจทก์แคบลง ทำให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เสื่อมราคาเป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น256,800 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 15655 ถนนจารุเมือง แขวงรองเมืองเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน256,800 บาท กับค่าเสียหายวันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไปเป็นที่เรียบร้อยให้แก่โจทก์
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกนายจีรศักดิ์ แซ่เบ๊หรือพรตปกรณ์ เข้าเป็นจำเลยร่วมตามคำขอของโจทก์
จำเลยและจำเลยร่วมให้การว่า บ้านเลขที่ 172 กับบ้านเลขที่ 170 ต่างเป็นตึกแถว 3 ชั้นครึ่ง ซึ่งปลูกสร้างติดกันเป็นแนวต่อเนื่องกับตึกแถวคูหาอื่นอีกประมาณ 30 คูหา ตึกแถวเลขที่ 170ของโจทก์เป็นห้องริมสุด ผนังด้านหนึ่งปลูกสร้างชิดแนวทางเดินส่วนผนังอีกด้านหนึ่งใช้ร่วมกับตึกแถวเลขที่ 172 เดิมตึกแถวเลขที่ 170 และ 172 กับตึกแถวคูหาอื่น ๆ ดังกล่าวเป็นของนายอนันต์ ภู่ชะอุ่ม (ที่ถูกคือภู่ชอุ่ม)เดิมจำเลยเช่าบ้านเลขที่ 172 ส่วนบิดาหรือมารดาโจทก์ทั้งสองเช่าบ้านเลขที่ 170จากนายอนันต์ และมีผู้เช่ารายอื่น ๆ อีกประมาณ 30 ราย เช่าตึกแถวที่เหลือจากนายอนันต์ เมื่อนายอนันต์ ถึงแก่กรรมแล้ว ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2525 นางองุ่น ภู่ชอุ่ม ผู้จัดการมรดกของนายอนันต์ตกลงขายตึกแถวและที่ดินที่ตั้งตึกแถวแต่ละคูหาให้แก่ผู้เช่าแต่ละราย จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุตรชายของจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายตึกแถวเลขที่ 172 จากนางองุ่น โดยจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยและขณะนั้นยังไม่ได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวและที่ดินกันแต่อย่างใด ในการนี้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างนางองุ่นกับผู้จะซื้อทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งจำเลยร่วมและโจทก์ทั้งสองด้วยว่าผู้จะซื้อตึกแถวทั้งหมดตกลงร่วมกันว่าจ้างผู้มีชื่อให้ก่อสร้างต่อเติมอาคารส่วนหลังของแต่ละคูหาจนชิดแนวเขตที่ดินแต่ละโฉนดซึ่งการก่อสร้างได้กระทำและแล้วเสร็จในช่วง พ.ศ. 2526ในระหว่างการก่อสร้างบิดามารดาโจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมตลอดจนผู้จะซื้อรายอื่น ๆ ไม่เคยทราบว่าได้มีการก่อสร้างฝาผนังล้ำแนวเขตที่ดินของผู้ใด ทั้งไม่มีการทักท้วงจากโจทก์ทั้งสองหรือผู้ใดเช่นนั้น ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2528 จำเลยร่วมจดทะเบียนซื้อตึกแถวเลขที่ 172 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 15654 จากนางองุ่นการก่อสร้างเพิ่มเติมดังกล่าวก็เป็นการกระทำของผู้รับจ้างเหมาก่อสร้างซึ่งถูกว่าจ้างโดยโจทก์ทั้งสองหรือบิดามารดาของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยร่วมร่วมกัน ผนังตึกดังกล่าวย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยร่วม หากฟังว่าเป็นการก่อสร้างผนังตึกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ก็เป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผนังตึกแถวเลขที่ 172ของจำเลยร่วมรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 15655แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครของโจทก์ทั้งสองตามเนื้อที่สีเขียวในแผนที่พิพาท (ที่ถูกคือแผนที่วิวาท) แต่จำเลยร่วมปลูกสร้างรุกล้ำโดยสุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้รื้อถอนคงมีสิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินเท่านั้น แต่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าใช้ที่ดิน ศาลจะกำหนดค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยร่วมเป็นคดีใหม่เรียกค่าใช้ที่ดินภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยร่วมปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต ให้ยกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยร่วมเรียกค่าใช้ที่ดิน ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า อาคารที่รุกล้ำเป็นของจำเลยร่วม ไม่ใช่ของจำเลยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลย จึงไม่มีปัญหาข้อใดที่จำเลยจะต้องโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนั้นจำเลยจึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งยกฟ้องโจทก์มิได้ ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ คดีจึงคงเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะตามฎีกาของจำเลยร่วมเท่านั้น ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 15655 พร้อมตึกแถวเลขที่ 170ของโจทก์ทั้งสองและที่ดินโฉนดเลขที่ 15654 พร้อมตึกแถวเลขที่172 ของจำเลยร่วมอยู่ติดกัน ที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวเดิมเป็นของนายอนันต์ ภู่ชอุ่ม มารดาโจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นบิดาของจำเลยร่วมต่างเช่าตึกแถวเลขที่ 170 และ 172 ตามลำดับจากนายอนันต์ ต่อมานายอนันต์ถึงแก่กรรม มีนางองุ่น ภู่ชอุ่มภริยาของนายอนันต์เป็นผู้จัดการมรดก ใน พ.ศ. 2526 บรรดาผู้อยู่ในตึกแถวได้ขออนุญาตนางองุ่นต่อเติมด้านหลังของตึกแถวของตน ช่างได้ทำการต่อเติมเสร็จในปีนั่นเอง โดยผนังตึกแถวเลขที่ 170 และผนังตึกแถวเลขที่ 172 ใช้ตงและคานร่วมกันจากนั้นวันที่ 22 มิถุนายน 2527 มารดาโจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15655 พร้อมตึกแถวเลขที่ 170 จากนางองุ่น และในวันที่ 7 สิงหาคม 2527 มารดาโจทก์ทั้งสองก็โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยร่วมได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15654 พร้อมตึกแถวเลขที่ 172จากนางองุ่น และได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากนางองุ่นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2528
ปัญหาที่จำเลยร่วมฎีกาว่า การต่อเติมผนังตึกด้านหลังตึกแถวพิพาทไม่ใช่เป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเพราะการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำต้องเป็นกรณีที่ผู้ปลูกสร้างได้ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน แต่การต่อเติมผนังตึกแถวพิพาทได้กระทำโดยได้รับความยินยอมจากนางองุ่นเจ้าของที่ดินและโจทก์ทั้งสองก็มีส่วนรับรู้เพราะการว่าจ้างให้ต่อเติมผนังตึกแถวพิพาท โจทก์ทั้งสองกับมารดาร่วมกับจำเลยและผู้เช่ารายอื่น ๆ ได้ว่าจ้างช่างให้ต่อเติมการต่อเติมตึกแถวพิพาทได้กระทำโดยความยินยอมและโดยความตกลงของทุกฝ่าย กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำจะนำบทบัญญัติมาตรา 1312 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2525 และได้ชำระเงินในชื่อของจำเลยร่วมเป็นงวด ๆ เสร็จเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2526 ซึ่งความข้อนี้จำเลยเบิกความว่าเมื่อจำเลยตกลงซื้อแล้วจึงให้จำเลยร่วมรับโอนกรรมสิทธิ์ไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายแทนจำเลยร่วม ปรากฏว่าได้มีการจ้างช่างมาต่อเติมอาคารเมื่อปี 2526โดยโจทก์ทั้งสองกับมารดาร่วมกับจำเลยและผู้อยู่ในตึกแถวรายอื่น ๆทั้งนี้โดยนางองุ่นได้ให้ความยินยอมแล้วซึ่งในส่วนของจำเลยร่วมนั้น เมื่อจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายแทนจำเลยร่วมก็เชื่อว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างแทนจำเลยร่วมด้วย ดังนั้น การจ้างช่างมาต่อเติมอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงกระทำหลังจากที่จำเลยร่วมเป็นผู้จะซื้อขายที่ดินและอาคารแล้ว โดยจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่ปลูกสร้างเป็นผู้จ้างช่างมาสร้างอาคารรุกล้ำเอง มิใช่ผู้อื่นเป็นผู้สร้างอาคารที่รุกล้ำแล้วโอนให้จำเลยร่วม และการที่โจทก์ทั้งสองกับมารดาและจำเลยร่วมดำเนินการปลูกสร้างด้วยกันดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมได้รู้ว่าได้สร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์ทั้งสอง จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยสุจริต กรณีจึงอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่งจำเลยร่วมจึงเป็นเจ้าของโรงเรือน คือผนังตึกที่สร้างขึ้นนั้นโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจให้จำเลยร่วมรื้อถอนผนังตึกได้ คงมีสิทธิที่จะเรียกเงินเป็นค่าที่จำเลยร่วมใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองต่อไป แต่โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องขอให้บังคับเช่นนั้น ได้แต่ฟ้องขอให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายวันจนกว่าจำเลยร่วมจะรื้อผนังตึกออกไป ซึ่งศาลไม่อาจบังคับให้ได้
พิพากษายืน